Tuesday, October 8, 2013

“เสรีภาพบนมาตรฐานสื่อสารมวลชน”



“เสรีภาพบนมาตรฐานสื่อสารมวลชน”

โดย นครินทร์ ชานะมัย  4561500119 
นักศึกษาปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รุ่น 5
วันที่ 3 ตุลาคม 2556

                สื่อวิทยุกระจายเสียงและสื่อวิทยุโทรทัศน์ เป็นศูนย์กลางการสื่อสารขึ้นพื้นฐานของประเทศ ที่ใช้เพื่อถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ และเพื่อความบันเทิงให้กับประชาชนทั้งประเทศได้รับรู้ ในส่วนของกระบวนการผลิตและกระบวนการสื่อสารผ่านสื่อหลักเหล่านี้ จึงควรที่จะมีมาตรฐานสูง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเบี่ยงเบนข้อมูล หรือความเข้าใจผิดของผู้รับสาร ที่เกิดจากคุณภาพไม่ได้มาตรฐานของผู้ส่งสารระดับประเทศ นั่นคือผู้ปฏิบัติการสื่อหรือสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่อยู่ในสื่อวิทยุกระจายเสียงและสื่อวิทยุโทรทัศน์รวมถึงสื่อใหม่ชนิดอื่นๆด้วย 
                สื่อโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีความสำคัญและมีบทบาทมากกว่าสื่อใด ๆ ที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากโทรทัศน์สามารถสร้างผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรมได้ชัดเจนและมีอิทธิพลมากกว่าสื่อชนิดอื่น  สังเกตได้จากการเติบโตของช่องรายการ  และการขยายตัวของกระบวนการผลิตรายการรูปแบบต่างๆที่มีการนำเสนอหลากหลาย การขายโฆษณาทางโทรทัศน์ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสื่อโทรทัศน์เป็นสื่อหลักที่เข้าถึงผู้รับสารได้ง่าย แม้ในพื้นที่ห่างไกล ก็สามารถสื่อสารได้เนื้อหาความเข้าใจชัดเจนเหมือนจริง มีทั้งภาพ และเสียง สามารถนำเสนอและโน้มน้าวใจได้ชัดเจนมากกว่าด้วยกลวิธีต่างๆ  Thomas Lindlof กล่าวไว้ว่า มีองค์ประกอบการรับรู้ของผู้รับสารจากรายการโทรทัศน์ที่สามารถแบ่งได้เป็นสามหมวดหลักคือ เนื้อหา(Content) การแปลความ(Interpretation) และ ปฏิกิริยาของสังคม (Social Action) ซึ่งทั้งสามส่วนนี้เป็นการถ่ายทอดความเข้าใจผ่านรายการโทรทัศน์ (Littlejohn & Foss : 346) หนึ่งในการโน้มน้าวใจของรายการทางโทรทัศน์ที่ได้ผลและเกิดปฏิกิริยาของสังคมได้ดีคือรายการต่างๆที่นำเสนอโดยใช้เฉพาะเสียงบรรยาย หรือใช้ทั้งภาพและเสียงในรูปของพิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการ ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งในปัจจุบัน ผู้ปฎิบัติงานสื่อในลักษณะนี้ มีจำนวนมากและกำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ ในขณะที่ยังคงไม่มีมาตรฐานกลางในการวางกรอบการดำเนินงานและบทบาทในฐานะสื่อมวลชนที่มีปฎิสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับผู้รับสาร ซึ่งแท้จริงแล้วกระบวนการสื่อสารเป็ฯกระบวนการที่ต่อเนื่อง ไม่ได้สิ้นสุด รวมทั้งยังมีปฏิกิริยาป้อนกลับของผู้รับสารไปยังผู้ส่งสารอีกด้วย (ภัสวลี นิติเกษตรสุนทร : 155) การสอบใบผู้ประกาศจึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติการสื่อเหล่านี้เป็นผู้ส่งสารที่มีมาตรฐานร่วมกันที่ชัดเจนและเพิ่มพูนทักษะในการทำงานให้มากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายสื่อสาธารณะของรัฐ
                ผู้ปฏิบัติการสื่อ ถือเป็นกลไกสำคัญของสื่อมวลชนที่ส่งผลกระทบต่อปฏิกิริยาของสังคมอย่างเห็นได้ชัด  เนื่องจากสื่อมวลชนมีขอบเขตความรับผิดชอบที่กว้างขวางเท่าที่สื่อจะแพร่กระจายไปได้ จึงมีอิทธิพลมหาศาลต่อสังคมผู้รับสาร  ซึ่งส่งผลกระทบชัดเจนและรวดเร็วทั้งในด้านความเชื่อ ทัศนคติ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้รับสาร ดังนั้นการสื่อสารของกลุ่มผู้ปฏิบัติการสื่อในหน้าที่ของผู้ประกาศหรือผู้ดำเนินรายการ มีบทบาทสำคัญที่สามารถส่งผลกระทบต่อระบบสังคมไทย  หน่วยงานของรัฐจึงต้องมีการเฝ้าระวังและควบคุมในส่วนที่ให้อาจก่อให้เกิดโทษของการสื่อสาร  และการปกป้อง และกำกับดูแลส่วนที่เป็นคุณประโยชน์ของการสื่อสาร การออกใบอนุญาตเป็นผู้ประกาศจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการควบคุมและการกำกับดูแลมาตรฐานของผู้ปฎิบัติการสื่อ ให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันและชัดเจน ที่จะทำให้สังคมพัฒนาไปควบคู่กับการพัฒนาของการสื่อสารมวลชนด้วย  
                ใบอนุญาตเป็นผู้ประกาศ มิได้เป็นเพียงหลักฐานเดียวที่สามารถทำงานสื่อสารมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากแต่เป็นเครื่องหมายแสดงศักยภาพและความสามารถพิเศษเชิงวิชาชีพสื่อได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น ต่มีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ของมาตรฐานในวิชาชีพ เพื่อบ่งชี้ถึงความมุ่งมั่นที่จะยกระดับทักษะในด้านต่างๆตนเองให้มีความสามารถเพียงพอ ไปพร้อมกับจริยธรรมวิชาชีพที่ผู้ปฏิบัติงานในฐานะสื่อมวลชนพึงมี การฝึกอบรม และการสอบใบผู้ประกาศเป็นเพียงการคัดกรองขั้นแรกเพื่อวัดความสามารถในการสื่อสารระดับมหภาค ที่จำเป็นต้องใช้ทักษะและการฝึกฝนร่วมกับพรสวรรค์ของกลุ่มผู้ปฏิบัติงานสื่อเฉพาะด้าน โดยมีการอบรมระดับต้น กลาง และปลาย และหัวข้อหลักในการสอบใบอนุญาตเป็นผู้ประกาศคือ ต้องมีความรู้ทั่วไปด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทักษะการจัดรายการ จริยธรรมวิชาชีพสื่อ และมาตรฐานการใช้ภาษาไทย  ผู้ที่ไม่สามารถอ่านออกเสียงได้ชัดเจน ถูกต้อง หรือมีคุณสมบัติยังไม่ถึงต่อข้อกำหนดดังกล่าวในการสอบ ถือว่ายังไม่มีทักษะและคุณสมบัติเพียงพอสำหรับหน้าที่นี้ เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับมาตรฐานของผู้ประกาศหรือผู้ดำเนินรายการ เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิจารณญาณในการปรุงแต่งคำพูด คัดเลือก ข่าวสารข้อมูล เตรียมการก่อนการผลิต ก่อนจะเผยแพร่สู่สาธารณะ (พีระ จิรโสภณ : 163)  ดังนั้นบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำหน้าที่นี้ ทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าประตูหรือผู้รักษาประตูข่าวสาร ที่เรียกว่า Gatekeeper โดยกลั่นกรองข้อมูลและส่งผ่านถ่ายทอดข้อมูลนั้นออกไป และช่วยกระจายความคิดเห็นในเรื่องนั้นๆด้วย  (Baran & Davis : 169) ดังนั้นผู้รักษาประตูข่าวสารหรือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศ พิธีกร ผู้ดำเนินรายการ หรือลักษณะอื่นๆที่ทำหน้าที่เช่นเดียวกันนี้ ทมีหน้าที่หลักในการสื่อสารไปยังประชาชนทั้งประเทศผ่านสื่อหลัก จึงไม่ควรมีคุณสมบัติและทักษะตามข้อกำหนดของรัฐต่ำกว่ามาตรฐาน ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าที่ผิดๆสำหรับผู้รับสารจำนวนมหาศาลได้ ในกรณีที่ผู้ชมผู้ฟังที่อาจไม่สามารถแยกแยะได้ว่าข้อบกพร่องในการสื่อสารของแต่ละบุคคลเป็นอย่างไร หรือเยาวชนที่อาจจดจำตัวอย่างที่ผิดๆไปใช้ต่อ
                ในประเด็นของการถูกกีดกันจำกัดสิทธิ์ สำหรับนักสื่อสารมวลชนที่ไม่ต้องการสอบใบผู้ประกาศ แต่ต้องการทำงานในฐานะผู้ประกาศหรือผู้ดำเนินรายการ  กฏเกณฑ์ของการสอบใบผู้ประกาศดังกล่าวนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใดก็ตาม วัตถุประสงค์หลักสำหรับการสอบใบผู้ประกาศ คือการรับรองสิทธ์จากหน่วยงานของรัฐ ว่าเป็นผู้ประกาศที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและทำงานสื่อสารมวลชนได้ตามมาตรฐาน  ผ่านการตรวจสอบ และทดสอบศักยภาพแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ชอบธรรมสำหรับการจัดสอบเพื่อควบคุมคุณภาพ เพื่อจำกัดเฉพาะบุคคลเท่านั้น  โดยมีการตรวจสอบลักษณะเฉพาะของบุคคลที่จะทำหน้าที่สื่อมวลชน (Littlejohn & Foss : 82) ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถถึงระดับที่กำหนดไว้เท่านั้น จึงจะประกอบอาชีพสื่อมวลชนในหน้าที่เฉพาะทางเช่นนี้ได้ เช่นเดียวกับตำแหน่งหน้าที่การงานเฉพาะทางที่จำเป็นต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถสูงเฉพาะในด้านนั้นๆเท่านั้น เพื่อสามารถทำงานให้ลุล่วงไปด้วยดีได้เช่น วิสัญญีแพทย์ ผู้ตรวจสอบบัญชี หรือเจ้าหน้าที่ดูแลระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การทดสอบวัดทักษะและข้อกำหนดต่างๆของกฏเกณฑ์การสอบใบผู้ประกาศที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ  เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรักษามาตรฐานการสื่อสารมวลชนของประเทศไทย เนื่องจากสภาวะสังคมใหม่หรือสังคมมวลชน สื่อมวลชนจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผูกมัดเชื่อมโยงสังคมแบบตัวใครตัวมัน สื่อมวลชนได้กลายเป็นพึ่งทางใจ ทำให้สื่อมวลชนสามารถโน้มน้าวใจสมาชิกในสังคมมวลชนได้ง่าย  (พีระ จิรโสภณ : 159) ดังนั้นการมีมาตรฐานสำหรับวิชาชีพผู้ประกาศหรือผู้ดำเนินรายการ จึงควรยึดถือไว้เพื่อคัดกรองมาตรฐานวิชาชีพและบุคลิกภาพ ก่อนที่นักสื่อสารมวลชนจะใช้ความเป็นเสรีภาพทางการสื่อสารมวลชนอย่างไร้ขอบเขตและมีมาตรฐานต่ำลง เมื่อไม่จำเป็นต้องมีการสอบใบผู้ประกาศ และกำหนดคุณสมบัติอื่นๆในการทำงาน ดังนั้น ตามทฤษฎีสื่อเพื่อการพัฒนา (Development media Theory)  จึงควรมีการแทรกแซงของรัฐเพื่อควบคุมการทำงานบางส่วนของกลไกสื่อมวลชน (Baran & Davis : 149) ในบทบาทหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานสื่อ เช่นการออกกฏข้อบังคับต่างๆในการสอบใบผู้ประกาศ เพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ
                ปัจจุบันนี้ ยังคงมีการสอบและต่อใบอนุญาตใบผู้ประกาศได้ภายใต้การรับรองของกรมประชาสัมพันธ์ อย่างต่อเนื่องและขยายวงกว้างออกไปตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง การอบรมและทดสอบเพื่อรับบัตรผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2556 ลงในราชกิจนุเบกษาเพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจและเข้าร่วมอบรมเพื่อสอบใบผู้ประกาศเพิ่มมากขึ้น ผู้สนใจสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับวิธีการข้อบังคับ และเงื่อนไขต่างๆได้ที่  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2556/E/015/51.PDF  แต่ข้อบังคับในการไม่มีใบผู้ประกาศ ยังไม่มีบทลงโทษหรือตักเตือนชัดเจน เนื่องจากอาจเกิดความขัดแย้งในเรื่องละเอียดอ่อนได้ เพราะเกี่ยวข้องกับเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะสื่อมวลชนที่มีปฎิสัมพันธ์กับสังคมโดยตรงก็ไม่สามารถปฏิเสธบทบาทนี้ได้ ซึ่งสอดคล้องตามทฤษฎี Social Responsibility Theory ในด้านเสรีภาพของสื่อมวลชนและกฎจรรยาบรรณของผู้ปฎิบัติงานสื่อมวลชน นอกเหนือจากมาตรฐานในการทำงานที่ยืนยันถึงทักษะวิชาชีพแล้ว  การสำนึกในหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่รับใช้สังคมอย่างไม่เลือกข้าง ซึ่งควรจะเป็นอุดมการณ์หลักของบรรดาสื่อมวลชนทั้งหลาย (Baran & Davis : 120)
                ในขั้นตอนการลงมือปฏิบัติจริง หน่วยงานของรัฐได้เริ่มต้นด้วยการขอความร่วมมือในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงมาตรฐานให้กับการสื่อสารของประเทศ ภาครัฐควรต้องขยายการอบรมก่อนการสอบใบผู้ประกาศให้ทั่วถึงและสะดวก ให้คำแนะนำในการฝึกฝน ชี้ให้เห้นคุณค่าของการเป็นนักสื่อสารมืออาชีพที่มีอุดมการณ์เดียวกัน และให้เห็นความสำคัญในฐานะเป็นผู้กลั่นกรองข้อมูลสู่ประชาชนทั้งประเทศ ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมสูงควบคู่ไปกับเสรีภาพของสื่อมวลชน  เพิ่มจำนวนรอบและขยายพื้นที่ในการดำเนินการสอบให้ครอบคลุมความต้องการให้มากขึ้น โดยเน้นย้ำนโยบายการเชิญชวนเพื่อประโยชน์ของผู้ปฏิบัติการสื่อเอง มากกว่าการบังคับด้วยกฏข้อห้ามและบทลงโทษ ช่วงเวลาระหว่างการขยายและให้ความรู้ควรทิ้งระยะเวลานานในการปรับตัวและเตรียมตัวสำหรับการสอบ เมื่อมีผู้สนใจสอบใบผู้ประกาศมากขึ้น มาตรฐานของสื่อมวลชนในด้านการเป็นผู้ประกาศข่าวหรือผู้ดำเนินรายการก็จะค่อยๆเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร และต้องเน้นที่การโน้มน้าวให้ผู้ปฎิบัติการสื่อเข้าใจและร่วมมือโดยสมัครใจ
                การตั้งเงื่อนไขในการทำงานการสื่อสารมวลชน ว่ามีความจำเป็นต้องได้ใบอนุญาตเพื่อเป็นผู้ประกาศหรือผู้ดำเนินรายการเท่านั้น จึงจะได้รับอนุญาตในการทำงานประเภทนี้ได้  อาจต้องเป็นขั้นตอนต่อไปที่ต้องระมัดระวัง ควรทิ้งระยะเวลาให้นานพอสมควร และมีอัตราการเติบโตของผู้ที่สอบได้สูงขึ้นอย่างชัดเจน ในจำนวนเหมาะสมและทำงานได้จริง หลังจากที่การขยายการฝึกอบรมและอธิบายให้เห้นถึงคุณค่าของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยมีกำหนดเวลาแจ้งไว้ชัดเจน  ระหว่างนี้ช่วงเวลาก่อนการมีข้อบังคับนี้ การดำเนินงานสื่อสารมวลชนก็สามารถดำเนินต่อไปตามปกติ โดยการมีใบผู้ประกาศอาจช่วยทำให้สื่อมวลชนในรายการดูน่าเชื่อถือมากขึ้น  ถือเป็นการยกระดับความสามารถให้ชัดเจน แต่ถ้ายังไม่มีก็ยังสามารถทำงานได้เช่นกัน จนกว่าผู้ปฏิบัติงานสื่อจะเปลี่ยนความคิดในการมองการทำงานสื่อ ว่าผู้ที่ไม่มีใบผู้ประกาศได้ ด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม ก็จะไม่มีหลักฐานใดๆแสดงตัวต่อสังคม ว่าเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพทัดเทียมผู้ที่ได้ใบผู้ประกาศ นอกจากผลงานหรือชื่อเสียงต่างๆที่เคยทำมาเท่านั้น สิ่งนี้กลับจะเป็นผลเสียให้กับตัวเอง ที่ไม่สามารถยืนยันต่อสังคมได้ตลอดเวลา ถึงความสามารถและมาตรฐานของตนที่ถูกวัดโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารโดยตรง  และทำให้ไม่สามารถช่วยพัฒนาสังคมสื่อมวลชนให้อยู่ในระดับทัดเทียมกับต่างประเทศได้
                ในอนาคต การสื่อสารมวลชนของประเทศไทย ควรอยู่ในขอบเขตเสรีภาพที่พอเหมาะ ไม่ทำลายส่วนประกอบอื่นในสังคมโดยรวม และควรเคารพจริยธรรมสื่อสารมวลชน เพื่อเดินไปในทิศทางเดียวกันเพื่อพัฒนาวงการสื่อสารมวลชนของชาติให้ก้าวสู่สังคมอาเซียนได้อย่างไม่ติดขัด เช่นเดียวกับทฤษฎีอิสรภาพนิยมหรือสื่อเสรี (Libertarian of Free Press Theory) ที่ยอมรับในปรัชญาเชิงเหตุผลนิยมและสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งสื่อมวลชนจะทำหน้าที่เป็นผู้แสวงหาและเสนอสัจธรรมแก่ประชาชน การควบคุมจะเป็นไปในลักษณะการพิสูจน์ตนเองโดยสื่อมวลชน ภายใต้บรรยากาศของตลาดเสรีแห่งความคิด (Free Market  Place of Ideas) ข้อห้ามของสื่อมวลชนตามทฤษฎีนี้คือ การหมิ่นประมาท การเสนอสิ่งลามกอนาจารและการยุยงให้เกิดความไม่สงบในระหว่างสงคราม เป็นต้น (พีระ จิรโสภณ : 149) ซึ่งก็เป็นมาตรฐานสากลของการสื่อสารมวลชนอยู่แล้ว
เมื่อประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในไม่ช้านี้ หมายถึงการเข้าสู่การแข่งขันแบบเสรีในทุกมิติ การแข่งขันที่มีแรงกดดันสูงจากหลายปัจจัย เมื่อถึงเวลานั้น สภาพแวดล้อมโดยรวมจะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อการสื่อสารมวลชนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการสื่อสารสอดแทรกอยู่ในทุกบริบทของสังคม นวัตกรรมช่องทางการสื่อสารจะขยายตัวอย่างรวดเร็วกว่าเดิม เช่น ดิจิตอลทีวี ไอพีทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม และการแพร่ภาพกระจายเสียงในลักษณะอื่นๆ  เงื่อนไขสำหรับการเป็นผู้ประกาศหรือดำเนินรายการในอนาคต อาจต้องมีข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้มีมาตรฐานสากลที่สูงขึ้น และพัฒนามากขึ้นในทุกช่องทาง ทุกพื้นที่ มีความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาทักษะวิชาชีพได้รอบด้านมากขึ้น โดยเฉพาะทางด้านวัฒนธรรมการสื่อสาร ภาษาที่ใช้ เสรีภาพในการนำเสนอที่อยู่ในขอบเขตของความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องมีมากขึ้นและทำงานด้วยความรอบคอบมากขึ้น เพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นสากล มีศักยภาพในการแข่งขันได้ในระดับภาคพื้นเอเชีย   ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องของบทบาทของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยในด้านต่างๆ ได้ที่  http://www.thai-aec.com/41
จากประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมด เห็นได้ว่าสื่อมวลชนไทยในยุคปัจจุบัน กำลังถูกรุมล้อมด้วยแรงกดดันทั้งภายในและภายนอก อีกทั้งยังจะทวีความรุนแรงมากขึ้นไปเรื่อยๆ สื่อมวลชนไม่ว่าในส่วนท้องถิ่นหรือส่วนกลาง ควรหันกลับมาพิจารณาบทบาทตัวเองในแบบมหภาคให้ชัดเจนอีกครั้ง พิจารณาจุดยืนในฐานะนักสื่อสารมวลชนที่มีหน้าที่จรรโลงสังคมไทย ทบทวนข้อผิดพลาด ผลประโยชน์ทางธุรกิจและการละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และมองถึงเป้าหมายที่ต้องการในอนาคตด้วย เมื่อมีปัจจัยภายนอกหลายอย่างเข้ามากดดันการสื่อสารมวลชนของไทย  ใบผู้ประกาศอาจเป็นตัวอย่างเล็กๆที่สะท้อนได้ถึงปัญหาใหญ่ที่ซ่อนอยู่ และอาจเกิดขึ้นในเงื่อนไขเดียวกันคือ ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างมาตรฐานสื่อสารมวลชนไทยและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งทฤษฎีต่างๆภายใต้ร่มเงาของ Normative Theory ที่เป็นบรรทัดฐานของสังคม อาจช่วยแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในบางจุด และทำให้การตัดสินใจหาข้อสรุปที่ลงตัวง่ายขึ้น ในการพัฒนายกระดับสื่อมวลชนไทยที่มีทั้งคุณภาพในการทำงานแบบมาตรฐานสูงระดับสากล และมีเสรีภาพทางความคิดที่พอเหมาะพอดี ดำเนินไปพร้อมจริยธรรมสื่อภายใต้การกำกับดูแลมาตรฐานโดยหน่วยงานของรัฐ ที่มีบรรทัดฐานอันสมบูรณ์ต่อไปในอนาคต






บรรณานุกรม

หนังสือ
กาญจนา แก้วเทพ. (2545). สื่อสารมวลชน: ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : บริษัท โรงพิมพ์ศาลาแดง จำกัด.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2533) ประมวลสาระวิชาชุดปรัชญานิเทศศาสตร์และทฤษฎีการสื่อสาร (หน่วย 1-7) นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2533) ประมวลสาระวิชาชุดปรัชญานิเทศศาสตร์และทฤษฎีการสื่อสาร (หน่วย 8-15) นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
                Baren, S.J. & Davis, D.K. (2012) Mass Communication Theory: Foundations, Ferment and Future. (6th edition), Boston. MA : Wadsworth Cengage Learning.
                           Littlejohn, S. & Foss, K. (2011). Theories of Human Communication. (10th edition). Long Grove, IL: Waveland Press.

สื่อออนไลน์
ทฤษฎีผู้ปิดและเปิดประตูสาร.  [ออนไลน์]. http://e-book.ram.edu/e-book/m/mc111/mc111_08_04.html เข้าถึงเมื่อ
วันที่ 28 กันยายน 2556
ทฤษฎิอำนาจนิยม.  [ออนไลน์]. http://e-book.ram.edu/e-book/m/mc111/mc111_09_02.html   เข้าถึงเมื่อ
วันที่ 28 กันยายน 2556
ทฤษฎีเสรีนิยมหรืออิสรภาพนิยม.  [ออนไลน์]. http://e-book.ram.edu/e-book/m/mc111/mc111_09_03.html  เข้าถึงเมื่อ
วันที่ 28 กันยายน 2556
ทฤษฎีความรับผิดชอบต่อสังคม.  [ออนไลน์]. http://www.oknation.net/blog/boonyou/2009/09/09/entry-1  เข้าถึงเมื่อ
วันที่ 28 กันยายน 2556
ทฤษฎีลักษณะนิสัยของบุคลิกภาพ. [ออนไลน์].  http://pathanar.blogspot.com/2010/07/trait-theory-of-personality.html  
เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2556

3 comments:

  1. ได้ความรู้ขึ้นเยอะเลย ขอบคุณครับ

    ReplyDelete
  2. เป็นประโยขน์มากๆ นานๆจะมีคนเขียนให้เข้าใจง่ายๆแบบนี้ซักที่ ขออนุญาตนำไปแชร์ต่อนะคับ

    ReplyDelete
  3. มีประโยชน์มากเลยครับ
    ขออนุญาตแชร์บทความนี้นะครับ

    ReplyDelete