Tuesday, October 8, 2013

แรงจูงใจ : รักแรกพบจากสื่อออนไลน์



แรงจูงใจ : รักแรกพบจากสื่อออนไลน์

โดย นครินทร์ ชานะมัย  4561500119
นักศึกษาปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รุ่น 5
วันที่ 9 ตุลาคม 2556


บทคัดย่อ
สื่อออนไลน์เป็นสื่อที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายในยุคปัจจุบัน เนื่องจากเทคโนโลยีอันทันสมัย ทำให้สื่อออนไลน์เป็นที่จับตามองของนักการตลลาดในด้านการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุดและมีอิทธิพลสูง เนื่องจากสามารถกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายเกิดแรงจูงใจได้ไม่ยาก ถ้ามีเทคนิควิธีการใช้สิ่งเร้าในรูปแบบต่างๆที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม แรงจูงใจดังกล่าวเปรียบเสมือนรักแรกพบที่จำเป็นต้องประมีประสิทธิผลสูงในทันที เพราะการสื่อออนไลน์มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว และมีคู่แข่งหรือข้อมูลต่างๆส่งเข้ามากระตุ้นเป็นจำนวนมากด้วยจุดมุ่งหมายทางการตลาดเช่นเดียวกัน จึงจำเป็นต้องใช้เทคนิควิธีพิเศษต่างๆ เข้ามาช่วยกระตุ้นเร้าให้กลุ่มเป้าหมายเกิดแรงจูงใจให้มากที่สุด

Abstract
Online media is now very  engaged  to consumer in term of easy access. Thanks to the modern technology, online media have been focused by marketers in the issue of well-approaching to the target with highly influential . Online media can stimulate dramatically to the right target. If the stimulation techniques are used in the different ways to suit for each target group. This stimulations as a love at first sight need highly effective action immediately. Because the information in online media is changing real fast. Competitors or other information submitted in online media simultaneously with the aim to stimulate their target gorups as well. In this situation, it requires online  special techniques to accelerate and motivate them the most.
 



แรงจูงใจ (Motivation) คือ สิ่งซึ่งควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ อันเกิดจากความต้องการ (Needs) พลังกดดัน (Drives) หรือ ความปรารถนา (Desires) ที่จะพยายามดิ้นรนเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ซึ่งอาจจะเกิดมาตามธรรมชาติหรือจากการเรียนรู้ก็ได้ แรงจูงใจเกิดจากสิ่งเร้าทั้งภายในและภายนอกตัวบุคคลนั้น ๆ เอง  แรงจูงใจภายใน (Intrinsic motives) ได้แก่ ความรู้สึกต้องการ หรือขาดอะไรบางอย่าง จึงเป็นพลังชักจูง หรือกระตุ้นให้มนุษย์ประกอบกิจกรรมเพื่อทดแทนสิ่งที่ขาดหรือต้องการนั้น อาจจะเป็นเจตคติ ความคิด ความสนใจ ความตั้งใจ การมองเห็นคุณค่า ความพอใจ ความต้องการสิ่งต่างๆดังกล่าวนี้มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมค่อนข้างถาวร ส่วน แรงจูงใจภายนอก (Extrinsic motives) ได้แก่ สิ่งใดก็ตามที่มาเร่งเร้า นำช่องทาง และมาเสริมสร้างความปรารถนาในการประกอบกิจกรรมในตัวมนุษย์ อาจจะเป็นการได้รับรางวัล เกียรติยศชื่อเสียง คำชม หรือยกย่อง แรงจูงใจภายนอกนี้ไม่คงทนถาวร บุคคลแสดงพฤติกรรมเพื่อตอบสนองสิ่งจูงใจดังกล่าวเฉพาะกรณีที่ต้องการสิ่งตอบ แทนเท่านั้น ซึ่งแรงจูงใจนี้อาจเกิดจากสิ่งเร้าภายในหรือภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว หรือทั้งสองอย่างพร้อมกันได้ อาจกล่าวได้ว่า แรงจูงใจทำให้เกิดพฤติกรรมซึ่งเกิดจากความต้องการของมนุษย์ ซึ่งความต้องการเป็นสิ่งเร้าภายในที่สำคัญกับการเกิดพฤติกรรม นอกจากนี้ยังมีสิ่งเร้าอื่น ๆ เช่น การยอมรับของสังคม สภาพบรรยากาศที่เป็นมิตร การบังคับขู่เข็ญ การให้รางวัลหรือกำลังใจหรือการทำให้เกิดความพอใจ ล้วนเป็นเหตุจูงใจให้เกิดแรงจูงใจได้   (ข้อมูล คำจำกัดความ, ความหมายและลักษณะของแรงจูงใจ จากเวปไซท์  http://th.wikipedia.org  และจากเวปไซท์    http://www.l3nr.org/posts/425512)

         ภาพ: itcinnotraining.com

สรุปได้ว่า การจูงใจเป็นกระบวนการที่บุคคลถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้า (Stimulus)   คือสิ่งที่มากระตุ้นให้ร่างกายมีปฏิกริยาตอบสนองเกิดเป็นพฤติกรรมขึ้น โดยจงใจให้กระทำหรือดิ้นรนเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์บางอย่าง ซึ่งจะเห็นได้จากพฤติกรรมที่เกิดจากการจูงใจ เป็นพฤติกรรมที่มิใช่เป็นเพียงการตอบสนองสิ่งเร้าปกติธรรมดา ยกตัวอย่างลักษณะของการตอบสนองสิ่งเร้าปกติ คือ การขานรับเมื่อได้ยินเสียงเรียก แต่การตอบสนองสิ่งเร้าจัดว่าเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการจูงใจ ดังนั้น แรงจูงใจเกิดขึ้นจากความปรารถนาของมนุษย์เองที่มีต่อบางสิ่งบางอย่าง ทำให้เกิดพฤติกรรมนำไปเพื่อบรรลุผลตามความต้องการนั้นๆ และแรงจูงใจที่ว่านี้ต้องมีมากเพียงพอจึงจะทำให้ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมไปจากเดิมได้  
ในกรณีของแรงจูงใจที่เกิดขึ้นจากสื่อออนไลน์ แรงจูงใจจากภายในจะเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน ที่เกิดจากความสนใจในบางอย่างเป็นพิเศษหรือเรียกว่าสิ่งเร้า ผ่านสื่อออนไลน์ แล้วนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเข้าถึงเรื่องที่สนใจ มีปฏิสัมพันธ์ ค้นคว้าศึกษาข้อมูลอย่างลึกซึ้ง หรือเข้าไปใช้งานบ่อยเป็นพิเศษ แสดงให้เห็นถึงความสนใจจริงจังชัดเจนของผู้กลุ่มเป้าหมาย
และจากข้อมูลของ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผย สำรวจความคิดเห็นของเยาวชนในหัวข้อ " ชีวิตประจำวันของเยาวชนในยุคสื่อออนไลน์ " โดยเก็บข้อมูลจากเยาวชนในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,186 คน เนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 20 กันยายน พศ. 2556 พบว่า อุปกรณ์ที่เยาวชนใช้สำหรับการเข้าถึงสื่อออนไลน์ในปัจจุบันมากที่สุดคือ โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟน ร้อยละ 69.4 รองลงมาคือคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊ค ร้อยละ 25.3 และแทบเล็ต ร้อยละ 5.3
        ส่วนเวลาที่เยาวชนอยู่กับสื่อออนไลน์/สังคมออนไลน์ เฉลี่ยต่อวัน มากที่สุด คือประมาณ 3-4 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 32.6 รองลงมาคือ ประมาณ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 19.7 และประมาณ 5-6 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 17.1
 ความเห็นต่อประเด็นการติดสื่อออนไลน์ เยาวชนร้อยละ 54.3 ระบุว่าตนเองไม่ได้ติดสื่อออนไลน์ (เล่นก็ได้ไม่เล่นก็ได้ ไม่ซีเรียส) ขณะที่ร้อยละ 45.7 ยอมรับว่าตนเองติดสื่อออนไลน์ (ต้องเล่นทุกวันและต้องหาเวลาและโอกาสเล่นจนได้) อย่างไรก็ตาม สำหรับประโยชน์ที่ได้จากการใช้สื่อออนไลน์ อันดับแรกเยาวชนระบุว่า รับรู้ข่าวสารต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และไวกว่าทางทีวี ร้อยละ 32.7 รองลงมาระบุว่า หาข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และได้ความรู้เพิ่มเติมร้อยละ 19.9 และคุยกับเพื่อน พ่อแม่ ญาติ หรือคนที่อยู่ห่างไกล ได้สะดวก โดยไม่ต้องเสียเงิน ร้อยละ 16.7  
ด้วยเวลาจำนวน 3 หรือ 4 ชั่วโมงต่อวันในชีวิตประจำวันของเยาวชนกลุ่มตัวอย่าง ถูกใช้ไปกับการติดต่อสื่อสารแบบออนไลน์ทุกวัน ย่อมแสดงให้เห็นว่า สื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาท มีอิทธิพลต่อผู้คนและสังคมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  เยาวชนเกิดแรงจูงใจต่อสิ่งเร้าสูง และได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตประจำวันไป มีการใช้ระยะเวลาในการติดต่อสื่อสารผ่านเครื่องมือต่างๆทางออนไลน์ยาวนานมากขึ้น  ในบางกรณีอาจกล่าวได้ว่า เยาวชนอยู่ในระดับเสพติดการสื่อสารออนไลน์ก็ว่าได้  อัตราการปฏิสัมพันธ์ทางออนไลน์ขยายตัวมากขึ้นจนกินเวลาการใช้ชีวิตประจำวันในส่วนอื่นๆไปมาก จนอาจถึงขั้นละเลยหรือละทิ้งพฤติกรรมเดิมๆที่เคยปฏิบัติมา  ซึ่งชี้ชัดได้ว่า สื่อออนไลน์มีบางอย่างเป็นสิ่งเร้า ที่มีอิทธิพลสูงและทำให้ผู้บริโภคเกิดแรงจูงใจยึดติดกับกิจกรรมต่างๆ ผ่านเครื่องมือการสื่อสารออนไลน์หลากหลาย ที่กลายเป็นปัจจัยที่ห้าในการดำรงชีวิตไปแล้ว เนื่องจากสื่อออนไลน์มีจุดเด่นในเรื่องความรวดเร็วในการใช้งาน มีความโดดเด่นทันสมัยและแพร่กระจายได้ง่าย มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตต่ำ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทุกที่ทุกเวลา ตราบเท่าที่เครื่องมือการสื่อสารใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ เพื่อสื่อสารกันได้โดยไม่จำกัดเนื้อที่ที่จะถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร มีลูกเล่นมากมาย ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายในทุกระดับ ใช้การนำเสนอเนื้อหาได้หลากหลายและน่าสนใจ ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว  ข้อมูลสิ่งเร้าที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างพอเหมาะเหล่านี้เอง  นับเป็นเครื่องมือให้เกิดแรงจูงใจได้เป็นอย่างดี และยังใช้ได้กับธุรกิจแทบทุกประเภทอีกด้วย ด้วยเหตุผลเหล่านี้ สื่อออนไลน์จึงเป็นสื่อใหม่ที่เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วจนแทบจะเรียกได้ว่าเมื่อทดลองแล้วจะติดใจเหมือนรักแรกพบ และมีอัตราการใช้งานขยายตัวเป็นอย่างมาก ทั้งในภาคธุรกิจ และการใช้งานส่วนบุคคล
 เมื่อสื่อออนไลน์เอิ้อประโยชน์ให้สินค้าหรือบริการ โดยสามารถแทรกซึมเข้าไปตามติดพฤติกรรมการใช้งานของกลุ่มผู้บริโภค แล้วจึงใช้กลยุทธ์ทางการตลาดในรูปแบบต่างๆเพื่อเชื่อมโยงสินค้าหรือบริการเข้ากับกลุ่มเป้าหมายให้ได้อย่างแนบเนียนเพื่อให้เกิดแรงจูงใจ ก็แล้วแต่ว่าเทคนิควิธีของใครจะโดนใจกลุ่มเป้าหมายมากกว่ากัน แต่สิ่งสำคัญคือ แรงจูงใจอย่างรุนแรงแบบทันทีทันใดจากสื่อออนไลน์ จะช่วยหยุดและดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้กลายเป็นลูกค้าคนสำคัญได้อย่างไม่ต้องลงทุนอะไรมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยเรื่อง The Wave 3 Report ของ Universal McCann ได้กล่าวว่า สื่อออนไลน์ เป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อตราสินค้า และภาพลักษณ์ขององค์กรธุรกิจอย่างมาก เพระผู้ใช้สื่อออนไลน์นิยมโพสต์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และแบรนด์ ผ่านบล็อก หรือในกลุ่มสังคมออนไลน์ของตน ดังนั้น การที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายได้ใกล้ชิดกับสินค้าหรือแสดงความคิดเห็นกับสินค้า  จึงควรใช้สื่อออนไลน์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจ และจำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้แรงจูงใจจากผู้บริโภคและสิ่งเร้าจากสื่อออนไลน์เป็นตัวตั้ง เพื่อค้นหาพื้นที่ยุทธศาสตร์และเน้นที่ความสนใจในการเสพสื่อชนิดนี้ของกลุ่มเป้าหมาย จากนั้นต้องศึกษาความต้องการและพฤติกรรม โดยเลือกใช้สื่อออนไลน์ที่กลุ่มเป้าหมายนิยมใช้ และต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดของสื่อออนไลน์ที่ดีอีกด้วย โดยเฉพาะเรื่องของเนื้อหา เพราะสิ่งเร้าหลักของสื่อออนไลน์คือความน่าสนใจของเนื้อหา ที่กลุ่มเป้าหมายจะเกิดแรงจูงใจที่ยังสนใจคอยติดตามเรื่องราวต่างๆอยู่เสมอ
สิ่งเร้าที่สามารถสะกดให้กลุ่มเป้าหมายหยุดเพื่อเกิดแรงจูงใจและสนใจในข้อมูลข่าวสารได้ทันทีนั้น ต้องมีความน่าสนใจพิเศษที่กระตุ้นเร้าให้เกิดแรงจูงใจคล้อยตามได้ในเวลาอันสั้น และต้องเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายนั้น เราสามารถเลือกสรรสิ่งเร้าให้มีความเหมาะสม และเกิดแรงจูงใจได้ สิ่งเร้าที่เราเลือกขึ้นมานั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดความนใจในในลักษณะเดียวกันกับ AIDA Model ที่คิดค้นขึ้นในปีค.ศ.1898 โดย St. Elmo Lewis ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใช้อธิบายขั้นตอนที่พนักงานขายจะใช้ในการจูงใจลูกค้าที่มีศักยภาพในการซื้อ จนกระทั่งปิดการขายได้สำเร็จ ในปี ค.ศ. 1961 ซึ่งรายละเอียดของ AIDA ประกอบด้วย
  o    Attention  คือการเรียกร้องความสนใจให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายรับรู้ว่ามีสินค้านี้อยู่ในตลาด จากนั้นก็ตามด้วย
 o Interest เป็นการกระตุ้นให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายสนใจและพอใจกับคุณสมบัติหรือคุณประโยชน์ของสินค้าหรือบริการ เท่ากับเปิดการขายไปในตัว
  o Desire การทำให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเกิดความต้องการหรือปรารถนาที่จะซื้อสินค้ามาใช้เนื่องจากความต้องการประโยชน์จากสินค้า
  o       Actions การทำให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายตัดสินใจซื้อสินค้านั้น ซึ่ง Lewis เชื่อว่า หากบริษัทสามารถทำให้เกิด 3 ขั้นตอนแรกได้แล้วนั้น ขั้นตอนสุดท้ายจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
(ข้อมูล AIDA Model จากเวปไซท์  http://en.wikipedia.org/wiki/E._St._Elmo_Lewis  และจากเวปไซท์ http://punyapapassorn.blogspot.com/2010/08/aida-model.html)
                สามขั้นตอนแรกของ AIDA Model จึงเป็นสิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจของกลุ่มเป้าหมายสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าดำเนินไปอย่างเหมาะสม รักแรกพบของกลุ่มเป้าหมายจากสามขั้นตอนแรก ก็จะถูกกระตุ้นด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดออนไลน์ต่อไปเรื่อยๆ และดำเนินการให้เกิดการตัดสินใจซื้อในทางใดทางหนึ่งในที่สุดตามขั้นตอนสุดท้ายของ AIDA Model
ดังนั้น มาตรฐานของสิ่งเร้าในรูปแบบที่เกิดประสิทธิผลสูงสุด เพื่อให้กลุ้มเป้าหมายเกิดแรงจูงใจและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ทันที จึงควรศึกษากลุ่มผู้ใช้งานสื่ออนไลน์ที่มีหลากหลายกลุ่มที่มีความสนใจแตกต่างกันไปตามลักษณะการดำรงชีวิตและความสนใจส่วนตัว  แล้วคัดสรรให้คุณสมบัติหลักของสิ่งเร้าเหล่านั้นให้ตอบสนองตรงจุดและเห็นผลทันที เช่นการเรียกร้องความสนใจทางภาพและเสียงได้อย่างชัดเจน เห็นแล้วเข้าใจได้ทันที มีจุดขายโดดเด่น จึงจะเกิดผลสะท้อนกลับตอบสนองสิ่งเร้าด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในที่สุด
กลยุทธ์การตลาดของภาคธุรกิจที่ใช้กับสื่อออนไลน์ แนวคิดหลักคงไม่แตกต่างกันกับกลยุทธ์ทางการตลาดที่ใช้กับสื่อออฟไลน์ชนิดอื่นๆ แต่เนื่องด้วยเอกลักษณ์สำคัญของสื่อออนไลน์ที่มีความเป็น  Dynamic สูง เคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และบางขอบเขตก็เป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนมีสิทธ์แสดงความคิดเห็น การเฝ้าระวังในด้านข้อมูล จึงจำเป็นต้องตรวจสอบเนื้อหาอยู่เสมอ และพยายามดึงความสนใจของผู้ใช้งานสื่อออนไลน์กลับมาให้ได้ เพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ทางการตลาด  โดยใช้หลัก AIDA เพื่อให้ได้แรงจูงใจอย่างส่ำเสมอสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เพิ่งเข้ามา
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าอิทธิพลของสื่อออนไลน์จะทรงอานุภาพขนาดไหน การสร้างแรงจูงใจและ AIDA ก็ควรต้องมีข้อจำกัดและอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ข้อมูลเนื้อหาที่ส่งผ่านเข้าไปควรต้องได้รับการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อความถูกต้อง และควรคาดเดาผลกระทบที่จะได้รับกลับมาด้วยทั้งแง่บวกและแง่ลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเยาวชน เนื่องจากสื่อออนไลน์เป็นสื่อสาธารณะที่ไม่จำกัดจำนวนความคิดเห็น การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันจึงเป็นเรื่องของปัจเจกชน ความเห็นต่างย่อมเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ควรก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ในเรื่องของข่าวลือหรือการสร้างเรื่องเท็จที่ทำให้เกิดกระแสความเคลื่อนไหวทางความคิดต่างๆทางออนไลน์ก็เช่นกัน ซึ่งถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีทั้งความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท กล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริง ละเมิดสิทธ์ส่วนบุคคล และอื่นๆ
ในมิติของภาคธุรกิจที่ต้องการทำกำไรจากสินค้า กลุ่มเป้าหมายหลักเป็นหัวใจสำคัญที่สินค้าต้องเข้าถึงให้ได้ไม่ว่าจะใช้ช่องทางการสื่อสารแบบใด เมื่อโอกาสของการเข้าถึงผู้บริโภคเปิดกว้างมากขึ้น ทำให้ธุรกิจต่างๆ มองเห็นถึงโอกาสที่จะเข้าใกล้กลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจในเทคโนโลยีและมีพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ในระดับความถี่สูง และมีกำลังซื้อชัดเจน สื่อออนไลน์จึงเป็นช่องทางใหม่ที่คุ้มค่าและมีประสิทธิผลสูงและได้รับการตอบสนองจากกลุ่มเป้าหมายทันทีทันใด  ในการถ่ายทอดเทคนิควิธีการแปลกใหม่ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์เรื่องราวน่าสนใจต่างๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้ได้อย่างรวดเร็ว เช่นในรูปแบบภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว คลิป และมัลติมีเดียต่างๆ  เน้นที่การจดจำได้เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายเกิดแรงจูงใจแบบรักแรกพบ เพื่อดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดต่อไป
ในอนาคต ถ้าการสร้างสรรค์สิ่งเร้าจากสื่อออนไลน์ยังคงใช้งานได้ดีและมีประสิทธิผลมากขึ้นเรื่อยๆ กลยุทธ์การสร้างแรงจูงใจก็ย่อมตกอยู่ในภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากทุกกลุ่มธุรกิจมองเห็นศักยภาพและโอกาสในการเติบโตของสินค้าของตน แต่ละตราสินค้าต่างพยายามแย่งชิงพื้นที่ในการกระตุ้นแรงจูงใจของกลุ่มเป้าหมายรายใหม่ของตนให้ได้มากที่สุด เมื่อกลุ่มเป้าหมายถูกกระตุ้นมากขึ้น และมีทางเลือกได้มากขึ้น โดยพิจารณาเลือกสรรจากแรงจูงใจที่ตนเองสนใจมากที่สุด และสื่อออนไลน์เต็มไปด้วยสิ่งเร้าเพื่อเร่งแรงจูงใจของผู้ใช้งานอย่างเต็มที่ เมื่อถึงระยะเวลาที่แรงจูงใจอิ่มตัวในมุมมองของกลุ่มเป้าหมายที่หาความแตกต่างจากสิ่งเร้าได้ไม่ชัดเจน  และไม่มีแรงดึงดูดได้มากพอสำหรับการเรียกร้องความสนใจ จนทำให้กลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไปจนถึงไม่สามารถฝังตัวเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินชีวิตของกลุ่มเป้าหมายได้ เครื่องมือหรือเทคนิคในการสื่อสารออนไลน์ชนิดใหม่ๆอาจต้องถูกคิดค้นและนำมาใช้ควบคู่กันไปด้วย เพื่อหวังผลในระยะยาว เพื่อการก้าวเข้าไปอยู่ในจิตใจของกลุ่มเป้าหมายให้ได้ และเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความรักแรกพบกับสิ่งที่ตนสนใจทันที ก่อนที่จะไปพบเจอกับรักแรกพบของคู่แข่งทางการค้ารายอื่นๆ


        




บรรณานุกรม
ผลสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนในหัวข้อ " ชีวิตประจำวันของเยาวชนในยุคสื่อออนไลน์ "  ศูนย์วิจัย
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์)
คำจำกัดความและความหมายของแรงจูงใจ  [ออนไลน์]. http://th.wikipedia.org เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556
ทฤษฎีแรงจูงใจ จิตวิทยาพื้นฐาน  [ออนไลน์]. https://sites.google.com/site/citwithyaphunthan/phathnakar-khx- ngbukhkh/thvsdi-phathnakar-thang-cit-sangkhm/khan-kar-khid-laea-ka เข้าถึงเมื่อวันที่ 1
ตุลาคม 2556
ลักษณะของแรงจูงใจ   [ออนไลน์]. http://www.l3nr.org/posts/425512 เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556
ความหมายของสิ่งเร้า  [ออนไลน์]. http://webhost.wu.ac.th/stipawan/index /link_etc_data/jidvidtaya.htm
เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556

ผลงานวิจัยของ  Universal Mccann International Social Media Research Wave 3  [ออนไลน์].

http://www.slideshare.net/mickstravellin/universal-mccann-international-social-media-research-wave-3 เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556
AIDA Model  [ออนไลน์]. http://en.wikipedia.org/wiki/E._St._Elmo_Lewis เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556
ตุลาคม 2556
กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการกระทำความผิดบนสื่อออนไลน์   [ออนไลน์].
https://report.thaihotline.org/inform.php?  act=ls&dontHeader=1  เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556
ความรับผิดตามกฎหมายจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์  [ออนไลน์]. http://www.online-news.biz/pimages/article_law_6.pdf             เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556

1 comment:

  1. จากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้สื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต ส่งผลให้วงการธุรกิจมีการคิดค้นเครื่องมือและวิธีการเพื่อให้กลุ่มคนได้มีโอกาสใช้สื่อในการตอบสนองความต้องเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้

    ReplyDelete