Tuesday, October 8, 2013

“ใบผู้ประกาศ” สิทธิ เสรีภาพตามทฤษฎีการสื่อสาร




“ใบผู้ประกาศ” สิทธิ เสรีภาพตามทฤษฎีการสื่อสาร
เขียนโดย นายภควัต  รัตนราช

จากประเด็นผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศ หรือผู้ดำเนินรายการวิทยุหรือโทรทัศน์ จำเป็นต้องมีใบรับรองการเป็นผู้ประกาศที่ออกโดยกรมประชาสัมพันธ์ ในสมัยที่กรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้กำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อยู่ ตามความในพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2498 โดยรัฐบาลได้จัดทำเป็นกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ.2537) ในข้อ 5 ว่าด้วยผู้ประกาศ และในข้อ 10 ว่าด้วยผู้ดำเนินรายการ มีรายละเอียดว่า 
เจ้าหน้าที่ผู้ประกาศประจำสถานีต้องมีสัญชาติไทย สามารถอ่านพูด และออกเสียงภาษาไทยได้ถูกต้องชัดเจน ได้ใบรับรองเป็นผู้ประกาศจากกรมประชาสัมพันธ์ และต้องไม่เป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
ผู้ดำเนินรายการ นอกจากต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้จัดรายการตามข้อ 9 แล้ว ต้องสามารถอ่าน พูด และออกเสียงภาษาไทยได้ถูกต้องชัดเจน และได้รับใบรับรองเป็นผู้ประกาศจากกรมประชาสัมพันธ์อีกด้วย
ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 มีผลบังคับใช้ อำนาจกำกับดูแลกิจการวิทยุ โทรทัศน์โอนเป็นขององค์กรอิสระ จนกระทั่งปี พ.ศ.2551 สภานิติบัญญัติที่แต่งตั้งโดยคณะปฏิวัติ ได้ผ่านพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ทำให้อำนาจหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์ในเรื่องใบผู้ประกาศหมดลงโดยสิ้นเชิง
จนถึงพฤษภาคม พ.ศ.2554 กทช. ที่ปฏิบัติหน้าที่ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม) ได้ดำริให้มีการจัดฝึกอบรมและเปิดโอกาสให้มีการต่อใบอนุญาตใบผู้ประกาศขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยยังรับรองใบประกาศของกรมประชาสัมพันธ์อยู่ด้วย มีใจความสำคัญว่า
พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธาน กสท. เปิดเผยว่า โครงการอบรมหลักสูตรนี้เป็นการปรับแนวคิดมาจากกรมประชาสัมพันธ์ และนำมาต่อยอดเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันมีสื่อทางเลือก ได้แก่ ช่องรายการเคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียม จำนวน 752 ช่องรายการ และวิทยุชุมชนที่มีจำนวนกว่า 7,000 สถานีทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง การอบรมและทดสอบเพื่อรับบัตรผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2556 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของบุคลากรวิชาชีพสื่อโทรทัศน์ วิทยุ อาทิ พิธีกร ผู้ดำเนินรายการ ผู้ประกาศข่าวให้มีความรับผิดชอบต่อการเผยแพร่ข่าวสารให้แก่ประชาชน
ส่วนนายปราโมช รัฐวินิจ ประธานคณะอนุกรรมการบัตรผู้ประกาศใน กสท. (กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์) กล่าวว่า บุคลากรวิชาชีพสื่อเป็นหัวใจสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสารให้แก่ประชาชน ดังนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุดคือ การทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนที่ต้องมีองค์ความรู้ ความรับผิดชอบเรื่องการใช้ภาษา ซึ่งมองว่าบัตรผู้ประกาศถือเป็นเครื่องถือวัดความเป็นมาตรฐานในวิชาชีพสื่ออีกด้วย จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ผู้เขียนได้ใช้ทฤษฎีการสื่อสารเข้ามาอธิบาย ดังนี้

แนวคิด ทฤษฎี
                แนวคิดเรื่องบรรทัดฐานของสื่อมวลชน (Normative Theories of Mass Communication) เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา โดยสังคมอเมริกันเกิดข้อถกเถียงเรื่องบทบาทของสื่อมวลชน ที่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมีแนวคิดอุดมการณ์เสรีนิยม เชื่อว่าไม่ควรมีกฎหมายใดๆ มาใช้เพื่อควบคุมจัดการสื่อ พวกเขาเชื่อในความเป็นสื่อเสรีขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าผู้ปฏิบัติการสื่อไม่มีความน่าเชื่อถือในการสื่อสาร หรือใช้สื่อเพื่อสนับสนุนความต้องการของสาธารณชน จึงมีความจำเป็นต้องควบคุมสื่อ จนเกิดทฤษฎีบรรทัดฐานของสื่อ (Normative theory of media) กล่าวคือ ทฤษฎีที่เสนอว่าสื่อควรจะหรือถูกคาดหวังจากสังคมให้ปฏิบัติหรือทำหน้าที่อะไรบ้าง (กาญจนา แก้วเทพ, 2552)
ลักษณะหลักโดยทั่วไปของทฤษฎีบรรทัดฐานของสื่อนั้นจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการควบคุม (Control) การปกป้อง (Protection) หรือการกำกับดูแล (Regulation) กระบวนการทำงานของสื่อมวลชนโดยอาศัยกลไกแบบต่างๆ ผูกพันโยงใยกับสภาพสังคมที่เป็นอยู่ นั่นคือ เมื่อปัจจัยที่เกี่ยวข้องแปรเปลี่ยนไป ทฤษฎีบรรทัดฐานของสื่อก็ย่อมเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
ทางด้าน กาญจนา แก้วเทพ (2552) ได้เสนอว่าพัฒนาการของตัวสื่อเองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของทฤษฎีบรรทัดฐานของสื่อ เนื่องจากบรรทัดฐานเดิมที่มีอยู่อาจไม่ครอบคลุมถึงสื่อใหม่ (New media) ที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในปัจจุบัน โดยการศึกษาการปฏิบัติหรือทำหน้าที่ของสื่อมวลชนตามทฤษฎีบรรทัดฐานของสื่อนั้นมีอยู่ 2 ระดับคือ ระดับโครงสร้าง (Structure) และระดับการปฏิบัติงาน (Performance) (กาญจนา แก้วเทพ, 2552)

ส่วน Baran & Davis (2009) กล่าวว่า แหล่งกำเนิดของทฤษฎีบรรทัดฐานของสื่อมวลชนนั้นมีที่มาอย่างน้อย 3 แหล่ง ได้แก่ กลุ่มผู้ปฏิบัติงานสื่อ กลุ่มนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ และทฤษฎีในอดีต ด้วยเหตุนี้ลักษณะของทฤษฎีจึงมีความหลากหลายขึ้นกับแต่ละสังคม ซึ่งมีความต้องการบรรทัดฐานที่แตกต่างกัน สำหรับบรรทัดฐานของผู้ประกาศในประเทศไทยนั้น ได้จัดให้มีการสอบใบผู้ประกาศขึ้น เพื่อสร้างบรรทัดฐานและรับรองมาตรฐานการเป็นผู้ประกาศ มีรายละเอียด ดังนี้ (Baran & Davis, 2009



                ในยุคแรกการเข้าทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศและผู้ดำเนินรายการในสมัยที่กรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้กำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อยู่ ต้องได้ใบรับรองเป็นผู้ประกาศจากกรมประชาสัมพันธ์เพื่อเป็นใบเบิกทางในการเข้าทำงานอย่างถูกต้อง เมื่อยึดหลักตามทฤษฎีการสื่อสารแล้วเป็นการใช้อำนาจรัฐในการควบคุม ดูแล และตรวจตราการทำหน้าที่ของผู้ประกาศ โดยภาครัฐ คือ กรมประชาสัมพันธ์ มีอำนาจในการควบคุมสื่อมวลชนอีกทอดหนึ่ง แม้ว่าตามทฤษฎีนี้จะให้อำนาจแก่สื่อมวลชนบางส่วนแล้วก็ตาม โดยผู้เขียนจะเทียบเคียงกับตัวบททฤษฎีให้เห็นได้ชัดเจน ดังนี้

                ทฤษฎีอำนาจนิยม ทฤษฎีนี้ให้อำนาจแก่สื่อมวลชน แต่ต้องอยู่ภายใต้การสนับสนุนของรัฐ สื่อมวลชนถูกควบคุมโดยรัฐในรูปแบบของการออกใบอนุญาตให้ มีการเซ็นเซอร์เนื้อหา รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจของรัฐไม่สามารถกระทำได้
                ตามทฤษฎีนี้มีผลต่อการควบคุมสื่อมวลชน คือ สื่อมวลชนจะกระทำการใดๆ ที่บ่อนทำลายผู้มีอำนาจในรัฐและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมไม่ได้ สื่อมวลชนจะต้องอยู่ภายใต้การเชื่อฟังต่อผู้กุมอำนาจ สื่อมวลชนต้องหลีกเลี่ยงการสร้างความขุ่นมัวหรือก้าวราวต่อเสียงส่วนใหญ่ต่อผู้มีอำนาจเหนือ และต่อศีลธรรมจรรยา การเซ็นเซอร์หรือตรวจตรามีความชอบธรรม กระทำได้เพื่อบังคับใหม่สื่อมวลชนปฏิบัติตามเกณฑ์ที่วางไว้ การโจมตีผู้มีอำนาจ การเบี่ยงเบนจากนโยบายของรัฐ และการรุกล้ำต่อศีลธรรมอันดี นับว่าเป็นการก้าวร้าวทางอาชญากรรม และนักวารสารศาสตร์หรือนักวิชาชีพสื่อมวลชนจะไม่มีอิสระจากข้อกำหนดขององค์กรสื่อนั้นๆ (พีระ จิรโสภณ, 2550: 148-149)
                ดังนั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในตำแหน่งผู้ประกาศและผู้ดำเนินรายการ ต้องผ่านการสอบใบรับรองผู้ประกาศจากกรมประชาสัมพันธ์ก่อน โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ๆ ที่จะพิจารณาในส่วนนี้ด้วย แต่อย่างไรก็ตามในห้วงเวลานั้น การเข้มงวดเรื่องใบผู้ประกาศก็ยังมีไม่มากนัก บางองค์กรยังใช้ผู้ประกาศที่ไม่มีได้ใบรับรองผู้ประกาศอยู่ และในการปฏิบัติงานจริงๆ ความเข้มงวดเรื่องการรักษามาตรฐานผู้ประกาศ และการเอาผิดกับผู้ประกาศที่ฝ่าฝืนข้อบังคับอย่างจริงจังยังมีไม่มาก บางรายการโดยเฉพาะสถานีวิทยุชุมชน ท้องถิ่น คุณภาพรายการยังไม่ดี มีการละเมิด การฝ่าฝืนอยู่ตลอด แต่กรมประชาสัมพันธ์ก็ยังไม่เข้มงวดในเรื่องนี้มากนัก ส่วนใหญ่ก็แนะนำให้เร่งไปสอบใบผู้ประกาศ การทำงานจึงอาศัยความอะลุ่มอะหล่วย กันอยู่ ส่วนการเข้าทำหน้าที่ของผู้ประกาศของบางหน่วยงานก็ยังไม่ต้องใช้ใบผู้ประกาศ ทำให้มาตรฐานของวิชาชีพถูกมองว่าไม่เป็นสากลมากนัก
                จากทฤษฎีนี้ผู้ประกาศและองค์กรจึงดูเสมือนมีสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารได้ตามใจตนเองเพิ่มขึ้น เช่น การเลือกฝั่งเลือกฝ่ายทางการเมือง การเลือกนำเสนอข่าว และที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง คือ การใช้ภาษาของผู้ประกาศในการแสดงความคิดเห็นต่อบุคคลที่มีชื่อเสียง ดารานักแสดง บุคคลทางการเมืองที่ส่อไปในแนวดูหมิ่น และชี้นำประชาชนให้มีทัศนคติเช่นเดียวกับผู้ประกาศมากกว่าให้ข่าวสารอย่างเป็นกลาง เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับทฤษฎีทางการสื่อสารแล้ว เป็นอำนาจที่สื่อมวลชนมีอิสรภาพและเสรีภาพสูง โดยต้นเหตุที่เป็นที่มาแห่งสิทธิเสรีภาพดังกล่าว คือ ความหย่อนยานทางการควบคุม ซึ่งผู้เขียนจะยกทฤษฎีเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นได้ชัดเจน ดังนี้

                ทฤษฎีอิสรภาพนิยมหรือสื่อเสรี สื่อมวลชนจะทำหน้าที่แสวงหาและเสนอสัจธรรมแก่ประชาชน การควบคุมจากรัฐโดยตรงไม่มี แต่การควบคุมเป็นไปในลักษณะการพิสูจน์ตนเองของสัจจะโดยสื่อมวลชนภายใต้บรรยากาศของตลาดเสรีแห่งความคิดเห็น ช่วยให้ความจริงกำหนดได้โดยประชาชน ไม่ใช่สื่อ ประชาชนเป็นผู้ควบคุมสื่อมวลชนได้โดยการสนับสนุนหรือเลิกสนับสนุนต่อสื่อมวลชนที่ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ดี ส่วนข้อห้ามของสื่อมวลชนตามทฤษฎีนี้คือ การหมิ่นประมาท การเสนอสิ่งลามกอนาจาร การยุยงให้เกิดความไม่สงบในระหว่างสงคราม (พีระ จิรโสภณ, 2550: 149)
                กล่าวโดยสรุป สื่อมวลชนต้องปลอดจากการเซ็นเซอร์หรือตรวจตราจากหน่วยงานใดๆ ส่วนการดำเนินงานสื่อมวลชนทั้งการผลิตและเผยแพร่ต้องเปิดกว้างทั่วไป ไม่ว่ากับใครหรือคนกลุ่มใดโดยไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาต ส่วนการโจมตีต่อรัฐบาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพรรคการเมืองนั้นเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน รัฐไม่สามารถลงโทษได้ ต้องไม่มีการบังคับในการตีพิมพ์หรือเสนอสิ่งใดๆ ไม่มีการจำกัดโดยกฎหมายในการเก็บรวบรวมหรือแสวงหาข่าวสารสำหรับการตีพิมพ์หรือการนำเสนอ ไม่มีการจำกัดการนำเข้าหรือส่งออกข่าวสารระหว่างประเทศ
                อย่างไรก็ตามเรื่องของสิทธิเสรีภาพทางการสื่อสารนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน จากข้อความของ พนา ทองมีอาคม ที่กล่าวว่า “ในอดีต เมื่อครั้งยังสอนหนังสืออยู่ ก็ไม่เห็นด้วยกับการวางเงื่อนไขบังคับให้ผู้ประกาศ หรือผู้ดำเนินรายการต้องมีใบรับรอง เพราะเรื่องของสื่อเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ทั้งเกี่ยวพันไปถึงเรื่องเสรีภาพ และการได้เสียทางการเมือง รวมถึงสร้างอุปสรรคต่อชนส่วนน้อย หรือผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงสื่อ” (ที่มา:http://panarkom.blogspot.com /2013/09/ blog-post_16.html?spref=fb.) สอดคล้องกับสิทธิการสื่อสาร ซึ่งวางหลักทฤษฎีไว้ว่า

ทฤษฎีสิทธิการสื่อสาร สื่อมวลชน กับประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ทฤษฎีการสื่อสารกับประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เป็นข้อเสนอที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แนวคิดนี้เชื่อว่าประชาชนมีสิทธิที่จะใช้อำนาจทางการเมืองได้โดยตรงควบคู่ไปกับการใช้ สิทธิ (ในเสรีภาพ) การสื่อสารของพลเมืองและชุมชน ซึ่ง ฌอง แม็คไบรด์ (Sean MacBride) กล่าวว่า สิทธิการสื่อสารเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นสิทธิที่จะนำไปสู่สิทธิมนุษยชนอื่นๆ (อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์, 2550: 30)
                เมื่อพิจารณาตามหลักของสิทธิการสื่อสารแล้ว ทุกคนย่อมมีสิทธิในการสื่อสาร โดยเฉพาะสื่อมวลชนหรือในที่นี้คือผู้ประกาศย่อมต้องมีสิทธิในการให้ข่าวสารตามหลักสิทธิในการสื่อสาร ประกอบกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ให้อิสระทางความคิด การแสดงความคิดเห็น การสื่อสารระหว่างกันจึงเป็นสิทธิ์ที่บุคคลพึงทำได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่ภายใต้ตัวบทกฎหมายด้วยเช่นกัน จากเอกสารเรื่องสิทธิการสื่อสาร The Right to Communicate : A status Report ในบทความเรื่อง “Rights and Freedoms” ขององค์การยูเนสโก ได้จำแนกประเภทของสิทธิการสื่อสารที่สำคัญไว้ 4 ด้าน ดังนี้
1. สิทธิในด้านข้อมูลข่าวสาร (information rights) คือ สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการโต้ตอบความคิดของคนอื่น สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การเข้าถึงแหล่งข้อมูล
2. สิทธิในด้านได้รับความคุ้มครอง (protection rights) คือ สิทธิของปัจเจกบุคคลที่จะไม่ถูกละเมิดในทางส่วนตัว ถูกกล่าวโทษจากสื่อ หรือถูกเลือกปฏิบัติจากสื่อ
3. สิทธิของกลุ่มบุคคล องค์กร และชุมชน (collective rights) คือ สิทธิในการนับถือศาสนา การใช้ภาษาและวัฒนธรรม การศึกษา การพัฒนาตนเองและชุมชน ความเสมอภาคในการรับข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศ
4. สิทธิในการมีส่วนร่วม (participation rights) คือ สิทธิในการมีส่วนร่วมตัดสินใจทางการเมืองและสังคม ทางวัฒนธรรมในชุมชนของตนเองและสังคมโลก
                นอกจากนั้นกลุ่มของนักวิชาการ MacBride Round Table และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิการสื่อสารและสิทธิมนุษยชน ยังได้ร่วมกันยกร่างกฎบัตรขึ้นสิทธิการสื่อสารของประชาชนขึ้น มีใจความสำคัญว่า (อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์, 2550: 33)
“การสื่อสารเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตของปัจเจกบุคคลและของชุมชน ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการสื่อสาร และการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องของการสื่อสารในสังคมของตนเอง และระหว่างสังคมของตนเองกับสังคมอื่น...ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ เพื่อให้สามารถสื่อสารได้อย่างเป็นอิสระ ทุคนมีสิทธิที่จะพัฒนาทักษะการสื่อสาร พัฒนาช่องทาง และสถาบันการสื่อสารของตนเพื่อบอกเล่าเรื่องราว และเป็นปากเสียงของตัวเองได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี”
                ทุกคนจึงมีสิทธิในการสื่อสาร และการเข้าถึงข่าวสาร โดยเฉพาะการปฏิรูปสื่อของไทย ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงสื่อได้โดยตรงในฐานะผู้ใช้สื่อ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ส่วนที่ 7 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน มาตรา 45 กล่าวว่า
“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย...”
และมาตรา 46 กล่าวว่า
“พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรม รวมทั้งมีกลไกควบคุมกันเองขององค์กรวิชาชีพ”
จากมาตรา 46 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 นั้น ข้อความช่วงท้ายระบุไว้ว่า   “...ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรม รวมทั้งมีกลไกควบคุมกันเองขององค์กรวิชาชีพ” ฉะนั้นผู้ประกาศในฐานะสื่อมวลชน แม้ว่าจะมีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญก็ได้ระบุให้สื่อมวลชนสามารถจัดตั้งองค์กรเพื่อควบคุมสื่อกันเองได้ ดังเช่นการจัดตั้งกรมประชาสัมพันธ์เพื่อกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จนเกิด กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม) เข้ามาดำเนินการต่อภายหลัง และได้ดำริให้มีการจัดฝึกอบรมและเปิดโอกาสให้มีการต่อใบอนุญาตใบผู้ประกาศขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยยังรับรองใบประกาศของกรมประชาสัมพันธ์อยู่ ให้เป็นไปตาม ประกาศของ กสทช. เรื่องการอบรมและทดสอบเพื่อรับบัตรผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2556 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของบุคลากรวิชาชีพสื่อโทรทัศน์ วิทยุ อาทิ พิธีกร ผู้ดำเนินรายการ ผู้ประกาศข่าวให้มีความรับผิดชอบต่อการเผยแพร่ข่าวสารให้แก่ประชาชน (ที่มา: http://www.dailynews.co.th/technology/221849)
เรื่องนี้ นายปราโมช รัฐวินิจ ประธานคณะอนุกรรมการบัตรผู้ประกาศใน กสท. (กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์) กล่าวว่า บุคลากรวิชาชีพสื่อเป็นหัวใจสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสารให้แก่ประชาชน ดังนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุดคือ การทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนที่ต้องมีองค์ความรู้ ความรับผิดชอบเรื่องการใช้ภาษา ซึ่งมองว่าบัตรผู้ประกาศถือเป็นเครื่องถือวัดความเป็นมาตรฐานในวิชาชีพสื่ออีกด้วย สอดคล้องกับทฤษฎีความรับผิดชอบทางสังคม (ที่มา: http://www.dailynews.co.th/technology /221849) ซึ่งผู้เขียนจะยกตัวบททฤษฎีเพื่อประกอบความเห็น ดังนี้

ทฤษฎีความรับผิดชอบต่อสังคม ทฤษฎีนี้มองว่าสื่อมวลชนจะต้องยอมรับภาระหน้าที่ ที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมในการใช้เสรีภาพของเขา หากสื่อมวลชนละเลยหน้าที่นี้อาจต้องมีการบังคับให้เป็นไปตามนั้น โดยวิธีการควบคุมจากความคิดเห็นของชุมชน ปฏิกิริยาของผู้บริโภค และกฎของจรรยาบรรณ ผู้มีสิทธิใช้สื่อมวลชนนั้นจะเป็นใครก็ได้ที่อยากแสดงออกบางสิ่งบางอย่าง และเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของสื่อมวลชน ได้แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนเท่าเทียมกัน (พีระ จิรโสภณ, 2550: 150)
                หลักการสำคัญของทฤษฎีนี้ คือ สื่อมวลชนจะต้องยอมรับ และปฏิบัติให้ลุล่วงในภาระหน้าที่ที่เป็นพันธกิจต่อสังคม ซึ่งภาระหน้าที่เหล่านี้ โดยหลักสำคัญจะต้องบรรลุถึงมาตรฐานวิชาชีพในด้านข่าวสาร สัจธรรม ความถูกต้อง ความเป็นกลาง ความสมดุล และควบคุมตนเองภายใต้กรอบแห่งกฎหมายและสถาบันที่ตนเองธำรงอยู่ สื่อมวลชนควรหลีกเลี่ยงสิ่งใดก็ตามที่อาจนำไปสู่อาชญากรรม ความไม่สงบ หรือแสดงความก้าวร้าวต่อเชื้อชาติศาสนาของชนกลุ่มน้อยในสังคม สื่อมวลชนควรเปิดกว้างและสะท้อนความหลากหลายของสังคม เปิดโอกาสให้ความเห็นของทุกฝ่ายได้เข้าถึง และให้สิทธิประชาชนในการตอบกลับมายังสื่อมวลชน สังคมและสาธารณะมีสิทธิที่จะคาดหวังการปฏิบัติในระดับมาตรฐานที่สูงของสื่อมวลชนและการเข้าแทรกแซงอาจต้องถือว่าไม่เป็นเรื่องผิด หากเป็นไปเพื่อความดีงามของสาธารณะ นักวารสารศาสตร์และนักวิชาชีพสื่อมวลชนจะต้องเป็นที่ไว้วางใจ หรือเชื่อถือได้ของสังคมเช่นเดียวกับนายจ้างหรือตลาดผู้บริโภคสื่อ
                จากความคิดเห็นของ พนา ทองมีอาคมว่า “ถ้ามองความต้องการของคนในวิชาชีพวิทยุโทรทัศน์เองที่ยังต้องการใบผู้ประกาศนี้ ก็คิดว่าการส่งเสริมให้มีมาตรฐานก็เป็นเรื่องดีเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าผู้เข้าทดสอบขอรับใบประกาศทำด้วยสมัครใจ เพราะที่ผ่านมาในช่วงสุญญากาศการกำกับทางวิทยุโทรทัศน์ สื่อหลายชนิดที่เกิดขึ้นแบบผิดๆ เช่นวิทยุชุมชน วิทยุนอกกฎหมาย และสื่อผ่านดาวเทียม ได้แสดงให้เห็นนักจัดรายการเสรีภาพคับแก้ว ที่มีทั้งถ่อย เถื่อน หลอกลวงประชาชนและเลือกข้างการเมือง การที่ กสท. ฟื้นฟูการฝึกอบรมและใบผู้ประกาศใหม่ ก็เห็นว่าเป็นเรื่องดี”
คล้ายกับความคิดเห็นของผู้เขียนที่ว่า แม้ว่าสิทธิในการสื่อสารนั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนพึงกระทำได้ แต่การทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศ เป็นเสมือนกระบอกเสียงที่มีอำนาจต่อวาระข่าวสารในสังคม การนำเสนอความคิดเห็นด้วยถ้อยคำใดๆ ควรพึงระวังถึงผลกระทบที่อาจตามมาภายหลัง ซึ่งหลักสำคัญแล้ว การทำหน้าที่ในตำแหน่งสื่อมวลชนนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานแห่งจรรยาบรรณของวิชาชีพเป็นหลัก ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขสังคมสื่อมวลชนที่ร่วมกันร่างขึ้นมา และกฎข้อบังคับขององค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมสื่อนั้นๆ การปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎระเบียบเป็นสิ่งที่พึงกระทำ การสอบใบผู้ประกาศก็เป็นเสมือนการควบคุมสื่อทางหนึ่งที่เป็นตัววัดความเป็นมาตรฐานในวิชาชีพ ซึ่งผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนควรต้องมีองค์ความรู้ ความรับผิดชอบเรื่องการใช้ภาษาที่ถูกต้อง
ส่วนการเอาจริงเอาจังเรื่องการตรวจสอบผู้ประกาศที่กระทำการอันไม่เหมาะสม และไม่มีใบอนุญาตนั้นเป็นสิ่งที่องค์กรควบคุมสื่ออย่าง กสท. ต้องเข้มงวดกวดขันให้มากขึ้น เพื่อรักษาความเป็นมาตรฐานและความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนให้คงอยู่ แต่อย่างไรก็ตามการสอบใบผู้ประกาศก็ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงด้วย ไม่ใช่ยากเกินไป ง่ายเกินไป ยุ่งยากเกินไป มิฉะนั้นใบประกาศก็อาจเป็นเพียงกระดาษที่ใช้เป็นใบเบิกทางในการทำงาน แต่ไม่ใช่ใบที่ผู้ประกาศยึดถือไว้เป็นความภาคภูมิใจแต่อย่างใด

บรรณานุกรม
กสทช.จัดอบรมหลักสูตรผู้ประกาศทีวี-วิทยุ.
[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จากhttp://www.dailynews.co.th/technology/221849. (วันที่ค้นข้อมูล : 27 กันยายน 2556).
กาญจนา แก้วเทพ. (2552). สื่อสารมวลชน:
ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. กรุงเทพฯ: แบรนด์เอจ.
ใบผู้ประกาศเสรีภาพหรือมาตรฐาน. 2556. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://panarkom.blogspot.com/2013/09/blog-post_16.html?spref=fb. (วันที่ค้นข้อมูล : 27 กันยายน 2556).
พีระ  จิระโสภณ. (2546). หลักและทฤษฎีการสื่อสาร. หน่วยที่ 11. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://th.wikisource.org/wiki. (วันที่ค้นข้อมูล : 30 กันยายน 2556).
อุบลรัตน์  ศิริยุวศักดิ์. (2547). สื่อสารมวลชนเบื้องต้น สื่อมวลชน วัฒนธรรมและสังคม.  กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Baran, S.J. & Davis, D.K. (2009). Mass
Communication Theory: Foundation, Ferment, and Future. Canada: Thompson Wadsworth.
McQuail, D. (2010). MacQuail’s Mass
Communication Theory. Oxford: The Alden Press.

No comments:

Post a Comment