Thursday, October 17, 2013

การพัฒนารูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก



การพัฒนารูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
จังหวัดนครนายก
                                    ปัทมา  สารสุข[1]

บทคัดย่อ
                         การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยใช้วิธีวิทยาการวิจัยเชิงปฏิบัติการ แบบมีส่วนร่วมเพื่อหารูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย กลุ่มผู้นำชุมชน กลุ่มชาวบ้านบาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ กลุ่มนักท่องเที่ยว แบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ส่วน คือ การศึกษาบริบทชุมชน การค้นหาศักยภาพของชุมชน และการทดลองจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ วัฒนธรรม จังหวัดนครนายก เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้ง ได้แก่ การสังเกตแบบมีส่วนร่วมการสัมภาษณ์เชิงลึก การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง การ สนทนากลุ่ม และ แบบสอบถาม เพื่อใช้สำหรับการจัดกิจกรรมต่างๆ วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ก่อนประเมินผลและ สรุปผลการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์การวิจัย
                        การศึกษาพบว่า จังหวัดนครนายกมีศักยภาพในการจัดรูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้บนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายกมีลักษณะเด่นหลายด้าน ได้แก่  มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งภายในและใกล้เคียงสามารถที่จะนำมาปรับใช้ในกิจกรรมและรูปแบบการท่องเที่ยวสวนผลไม้ที่น่าสนใจหลากหลายและยั่งยืน ทำให้มีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานภายในจังหวัดนครนายกเป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาหมู่บ้านของตนในหลาย ๆ ด้านอย่างยั่งยืนและต้องการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชนบนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงโดยชุมชนมีส่วนร่วม  ดังนั้น จังหวัดนครนายกสามารถจัดได้ตามวัตถุประสงค์ของงานวิจัยเพื่อทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับคนในชุมชนและตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ จังหวัดนครนายกยังมีปัญหาจากการที่คนในชุมชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการจัดการรูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวและในเรื่องของความพร้อมด้านบุคลากร



คำสำคัญ พัฒนารูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยว เศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก
Model development and tourism activities along the orchard sufficiency  Nakhonnayok.
Pattama  Sarasuk[2]
Abstract
                The research was conducted using the qualitative research method, Participatory Action Research: PAR. The goal of this research was to determine a methodology for eco - cultural historical tourism of Model development and tourism activities along the orchard sufficiency  Nakhonnayok Province. The research team participated with the Nakhonnayok Province people in order to study and demonstrate the activities of eco - cultural historical tourism. The target groups for this work were the community leadership group, the Nakhonnayok Province people, local businessmen, and other relevant agencies. The study was divided into three distinct elements: studying of the community context, determining the potential of the people of the community for tourism management, and developing the practical experiment of ecological cultural historical tourism of  Nakhon Nayok community. The tools that were used in this research were participant observation, in-depth interviews, structured interview, focus group discussions, and questionnaires. These tools were used to determine and establish the arrangement of tourism activities, analyze and synthesize data by using content analysis before assessment and summary of the overall operation based upon the research goals.
                The study found that Nakhon Nayok Province has Potential formatting and orchard tour on concept of sufficiency economy. Nakhon Nayok has many features including inside and nearby tourist attractions can be applied in the form of activities and tourist orchard variety of attractive and sustainable . Made available to those interested in the ARIS study a lot. Farmers have realized the importance of the development of their villages in areas of sustainable tourism activities and the community on the concept of sufficiency economy through community participation. Nakhon Nayok Province can be arranged so the purpose of this research is to contribute to the creation of added value for the community and meet the needs of visitors . ARIS also the issue of the lack of knowledge and understanding of the community in the form of management and tourism activities and the availability of personnel .
Key Words : Model development and tourism activities  Sufficient economy  Nakhon Nayok.
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
                        ปัจจุบันการท่องเที่ยวนับว่ามีความสำคัญและมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมากรายได้จากการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญมากของประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งก่อให้เกิดการจ้างงาน การผลิตสินค้า การกระจายรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันของประเทศ ซึ่งในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจทั้งในอดีตและปัจจุบัน การท่องเที่ยวเสมือนเป็นยุทธศาสตร์แนวทางหนึ่งที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ มีส่วนช่วยประเทศให้ฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจได้ (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. 2555 : 25) การท่องเที่ยวก่อให้เกิดการหมุนเวียนและการกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาค เมื่อเกิดการเดินทางท่องเที่ยวเข้าไปถึงแหล่งท่องเที่ยวในชนบทการพัฒนาความเจริญจะไปถึงภูมิภาคนั้นๆ ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ในท้องถิ่น เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ร้านค้า สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มีผู้ลงทุนในหลาย ๆ รูปแบบทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพอย่างกว้างขวาง เป็นการสร้างรายได้สู่ประชาชนอย่างแท้จริง การท่องเที่ยวมีบทบาทในการกระตุ้นให้เกิดการผลิต และนำเอาทรัพยากรของประเทศโดยเฉพาะของท้องถิ่น    มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในอัตราที่สูง การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่สิ้นเปลืองวัตถุดิบ ผลผลิตขายได้ทุกเวลาสุดแล้วแต่ความเหมาะสมและความสามารถของผู้ขาย
                        แนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงตามกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นยังคงเป็นแนวทางที่ใช้ยึดถือปฏิบัติได้ดีในทุกสังคมดังเช่นชาวชุมชนจังหวัดนครนายกที่มีการจัดการท่องเที่ยวภายในชุมชนมานานกว่า 7 ปีแม้ว่าในวันนี้กระแสโลกาภิวัฒน์จะถาโถมเข้ามาแต่ชุมชนของที่นี่ก็พร้อมที่จะตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยเริ่มที่จะกลับมามองตัวตนของตน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่การท่องเที่ยวได้นำมาซึ่งรายได้ และการลงทุนภายในชุมชน รายรับและรายจ่ายที่ขาดความสมดุลรวมไปถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ถูกผันออกจากชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำเอาข้อมูลที่ได้นั้นมาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทดลองและตรวจสอบผลสำเร็จจากวิธีที่ร่วมกันคิดร่วมกันแก้ปัญหาอันจะนำมาซึ่งแนวทางที่จะสามารถยึดถือเป็นวิธีปฏิบัติของชุมชนเองเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภายในชุมชนสู่วิธีพอเพียง
                        ปัจจุบันแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดที่ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนนำมาจับเป็นแนวคิดในการพัฒนางานด้านต่าง ๆ ให้เป็นแบบแผนขึ้น ซึ่งแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด ในการพัฒนาและบริหารประเทศ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจ และการกระทำในยุคที่เป็นยุคของโลกวิวัฒนาการไปมากเท่าไร คนก็ยิ่งมีการบริโภคที่เกินตัว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงจะสามารถนำไปใช้เพื่อสร้างความสมดุลในชีวิตและการพัฒนาประเทศได้ ซึ่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่คนในชนบทยึดหลักการปฏิบัติกันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการดำรงชีวิตที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
                        เนื่องจากจังหวัดนครนายกเป็นจังหวัดที่มีสภาพภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตร ทำให้มีอุตสาหกรรมการเกษตรเกิดขึ้นจำนวนมากเป็นจังหวัดชั้นนำในการผลิตสินค้าการเกษตรออกสู่ตลาด มีสถานท่องเที่ยวในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ธรรมชาติ มีแหล่งเรียนรู้ รวมทั้งการให้บริการด้านเทคโนโลยีการผลิตการเกษตรและเกษตรเชิงอุตสาหกรรม เช่น ศูนย์วิจัยข้าวนครนายก ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครนายก ศูนย์วิจัยพืชไร่นครนายกศูนย์บริหารศัตรูพืชโดยชีวภาพ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (พันธ์พืชเพาะเลี้ยง) เป็นต้น จังหวัดนครนายกได้มีการน้อมรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตไม่ว่าจะเป็นการใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวคิดในการพัฒนาและปรับปรุงสวนผลไม้ จนทำให้คนในชุมชนสวนผลไม้ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีจนทำให้มีชีวิตอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตทีดี และที่สำคัญมีคุณธรรมที่ดี ทำให้เป็นชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งจังหวัดนครนายกเป็นจังหวัดในภาคกลาง มีพื้นที่ 2,122 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบอยู่ในหุบเขา ตอนเหนือและตะวันออกเป็นเนินสูง และป่าเขาติดต่อกับเขาดงพญาเย็น ส่วนทางตอนกลางและตอนใต้เป็นที่ราบลุ่ม สินค้าพื้นเมืองของนครนายก มีทั้งที่เป็นของกินของใช้ ผลิตภัณฑ์พืชผักผลไม้ที่ขึ้นชื่อนานาชนิด เช่น มะปรางหวาน ส้มโอ ทุเรียน ส้มเขียวหวาน หน่อไม้หวาน มะนาว มะยงชิด ฯลฯ ชาวสวนผลไม้จังหวัดนครนายกได้มาบุกเบิกสวนมะยงชิด พันธุ์ทูลเกล้า ซึ่งจัดเป็นสายพันธุ์ที่ดีที่สุดพันธุ์หนึ่งในประเทศไทย มีการปลูกอย่างกว้างขวาง ผลมีขนาดใหญ่ปลอดสารพิษไม่ได้ใส่ปุ๋ยเคมี เจ้าของสวนทำเกษตรแบบอิงแอบธรรมชาติ เจ้าของสวนเน้นปุ๋ยชีวภาพ รวมทั้งใช้สารสกัดจากพืช ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปรัชญาพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วยให้ทุกครัวเรือน พออยู่ พอกิน
                        ดังนั้น การที่จะให้เกิดรูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้โดยนำหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางนั้นชาวบ้านต้องยึดหลักที่ว่าทุกคนในชุมชนชาวสวนผลไม้เป็นเจ้าของทรัพยากรที่มีอยู่ภายในหมู่บ้านและเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการจัดการการท่องเที่ยวสวนผลไม้ โดยการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และผลิตภัณฑ์ของชุมชนมาใช้เป็นต้นทุนหรือปัจจัยในการจัดการท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนให้มีความรู้ ความสามารถในการดำเนินงานตั้งแต่การตัดสินใจ วางแผน ดำเนินงาน เน้นให้เกิดความยั่งยืนสู่คนรุ่นลูกหลานและเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่น ตลอดจนคำนึงถึงความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนเป็นสำคัญ ฉะนั้นการศึกษารูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศเกิดความยั่งยืนตลอดไป เพื่อที่จะให้นักท่องเที่ยวหันมาเห็นคุณค่า ความสำคัญการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยการให้ความรู้ ความเข้าใจ กับนักท่องเที่ยวผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จะทำให้นักท่องเที่ยวรู้ถึงคุณค่า ความสำคัญของการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการศึกษาและค้นคว้าข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว (Studying), การเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ประเพณี (Learning), การสังเกตถึงความโดดเด่นของศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญาที่เป็นอัตลักษณ์ (Observing) และการห่อหุ้มหรือบูรณาการองค์ความรู้ที่ได้จากแหล่งท่องเที่ยว (Wrapping) รวมถึงการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ ในแหล่งท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังทราบถึงข้อควรปฏิบัติในการใช้พื้นที่สวนผลไม้ จังหวัดนครนายก
                        รูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายกจะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ให้สอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของนักท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นในด้านการวางแผนและส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ให้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวภายในชุมชนสวนผลไม้เอง หรือบริเวณใกล้เคียงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นรูปแบบไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีดั้งเดิม ทั้งยังเปิดโอกาสให้ชุมชนสวนผลไม้มีส่วนร่วมในการจัดแหล่งทรัพยากรท่องเที่ยวในชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้ชุมชนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ ร่วมกันอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรท่องเที่ยวในชุมชน รวมถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี แบบชนบทที่เป็นต้นแบบของหมู่บ้านที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการต่อยอดเชิงการท่องเที่ยวในสิ่งที่ชุมชนมีอยู่แล้ว ส่งผลให้เป็นชุมชนต้นแบบทางด้านการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐ ในการวางแผนและกำหนดทิศทางทางป้องกันและแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและถูกต้อง
                       
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
                        1.   เพื่อศึกษารูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ที่มีอยู่ของจังหวัดนครนายก
                        2.   เพื่อศึกษาถึงกระบวนการพัฒนารูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก
                        3.   นำเสนอปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขรูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก ที่ได้จากการศึกษาเพื่อเป็นต้นแบบในการปรับใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ที่มีองค์ประกอบใกล้เคียงกัน
                       
คำถามการวิจัย
                        1.   รูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ที่มีอยู่ของจังหวัดนครนายกเป็นอย่างไร
                        2.   รูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก ส่งผลต่อการท่องเที่ยวอย่างไรบ้าง
                        3.   ปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขรูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก เป็นอย่างไร

นิยามศัพท์ปฏิบัติการ
                        1.   รูปแบบการท่องเที่ยว หมายถึง ลักษณะของการท่องเที่ยวที่มีการกำหนดไว้เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว ในพื้นที่สวนผลไม้ของจังหวัดนครนายก
                        2.   กิจกรรมการท่องเที่ยว หมายถึง การกระทำต่าง ๆ ของนักเที่ยวในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ ตามที่ชอบ ตามความถนัด
                        3.   การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หมายถึง การท่องเที่ยวที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตและผลประโยชน์ของชุมชน เศรษฐกิจและผลประโยชน์อันเกิดจากการท่องเที่ยวจะเกิดอย่างสร้างสรรค์ โดยการท่องเที่ยวที่มีระยะยาวขึ้น มีการท่องเที่ยวเฉพาะจุด มีการรักษาสิ่งแวดล้อมและคุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น
                        4.   การท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง (Agro-Tourism) หมายถึง การเดินทางท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ชุมชนการเกษตรกรรม สวนเกษตรของจังหวัดนครนายก เพื่อชื่นชมความสวยงาม ความรู้ และความเพลิดเพลินในกิจกรรมทางการเกษตรในลักษณะต่าง ๆ
                        5.   นักท่องเที่ยว หมายถึง บุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เข้ามาเยือนท้องถิ่นนั้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะมาศึกษาหาความรู้และท่องเที่ยวพักผ่อนตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ หากแต่ไม่ได้มาอาศัยอยู่อย่างถาวร



การตรวจเอกสาร
                        แนวคิดเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
                        ชาญชัย เพ็ชรประพันธ์กุล (2550 : 50) ได้กล่าวถึงความเป็นมาของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไว้ดังนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้ทรงวางรากฐานการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการพัฒนาประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองไว้ตั้งแต่ปี พ.. 2517 โดยพระองค์ได้พระราชทานมโนทัศน์ด้านความพอเพียงไว้เป็นครั้งแรกเมื่อคราวเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 18-19 กรกฎาคม 2517 แต่สังคมไทยก็ยังเข้าไม่ถึงหลักการของแนวคิดดังกล่าว เมื่อประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจการเงินในปี 2540 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งบรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการต่าง ๆ ได้ทูลเกล้าขอพระบรมราชวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง พระองค์จึงได้พระราชทานวินิจฉัยเรื่องมโนทัศน์ความพอเพียงแก่สังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยทรงสรุปไว้ในรูป ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency economy) เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2542 จากนั้นเป็นต้นมา หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้พยายามนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้

                         แนวคิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
                        โฮลินฮอจ (Holinhoij. 1996 : 42-43) ให้ความเห็นว่าการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรม วิถีของประชาชนในชนบท เป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสสัมผัส และมีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตกับผู้คนในชนบทในฐานะแขกหรือผู้มาเยือนในช่วงสั้นๆ และการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไม่ใช่การท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อกับการท่องเที่ยวทางทะเล แหล่งประวัติศาสตร์ ศาสนา การประกอบธุรกิจ และการเยี่ยมญาติ
                        โกลด์เบิรฺค (Goldberg. 1997 : 50-52) ให้ความเห็นว่าการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องในหลายๆ ด้านที่เกี่ยวกับการผลิตและการจำหน่ายปัจจัยการผลิต กิจกรรมการผลิตในฟาร์ม การเก็บรักษา การแปรรูป และการจัดจำหน่ายสนค้าเกษตร และผลิตผลพลอยได้จากสินค้าเกษตร
                        นำชัย ทนุผล (2540 : 22-25) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศ (Agro-ecotourism) ไว้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีทั้งปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์วัฒนธรรมทางการเกษตรเป็นวิถีชีวิต และเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ในวัฒนธรรมการเกษตรนั้นประกอบไปด้วยกระบวนการผลิตและผลผลิตจากการเกษตร ซึ่งในแต่ละกระบวนการของแต่ละขั้นตอนการทำการเกษตรนั้น เช่น ความเชื่อก่อนการทำการเกษตร อุปกรณ์ เครื่องมือ วิธีการทำการเก็บเกี่ยว การดูแลรักษา การแปรรูปผลผลิต ขนบธรรมเนียม ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
                        ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความหมายและมีคุณค่าอย่างลึกซึ้งที่มีการสืบทอดสิ่งต่างๆ จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ถือว่าวัฒนธรรมการเกษตรเป็นอารยธรรมการเกษตรของไทยที่ชาวต่างวัฒนธรรมไม่เคยเห็นมาก่อนและเดิมทีการเกษตรของประเทศไทยจะขายผลผลิตทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว และเอาบางส่วนเหลือไว้พอกินพออยู่ก็สามารถที่จะอยู่อย่างสุขสบาย ไม่ต้องดิ้นรนไขว่าคว้าหาอะไรมากมาย แต่ปัจจุบันสภาพทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนไปต้นทุนการผลิตสูง ค่าครองชีพสูง รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
                        ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องหาทางเพิ่มรายได้เนื่องจาการทำการเกษตรอย่างเดียวอาจจะไม่พอ ต้องนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการทำการเกษตร หรือต้องหาอาชีพอื่นทำ สาเหตุที่ทำให้วัฒนธรรมทางการเกษตรเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศ (Agro-ecotourism) ที่เกี่ยวกับกระบวนกรผลิตและผลผลิตในลักษณะที่มีการสาธิต การแสดงทำการเกษตรแต่ละขั้นตอนให้นักท่องเที่ยว (Tourist) ได้ชมและให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส ส่วนในด้านผลผลิตจากการเกษตรก็มีการแปรรูปจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งการจัดที่พักแบบ Home Stay โดยให้นักท่องเที่ยวได้พักแรมในบรรยากาศที่ดูเป็นธรรมชาติเหมืนกับคนในท้องถิ่น ซึ่งการท่องเที่ยวเกษตรนิเวศจึงมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ พัฒนาและสร้างรายได้โดยชุมชนมีส่วนร่วม

ขอบเขตของการวิจัย
                        การวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษารูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก ผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตไว้ดังนี้
                        1.   ขอบเขตด้านประชากร ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่
                              1.1   ประธานกลุ่มเกษตรกรชาวสวนผลไม้ดีเด่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครนายก จำนวน 21 คน ซึ่งประกอบไปด้วย ประธานกลุ่มสวนลองกอง สวนมังคุด สวนส้มโอปลอดสารพิษ สวนมะยงชิด สวนมะปรางหวาน สวนกระท้อน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเจ้าของบ้านพักโฮมสเตย์ในสวนไม้ผล และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครนายก
                              1.2   กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในจังหวัดนครนายก ในการศึกษาครั้งนี้ได้กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยการเปิดตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane ซึ่งกำหนดระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ความคลาดเคลื่อนไม่เกินร้อยละ 5 โดยจะใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบโควต้า (Quota Sampling) ซึ่งในจังหวัดนครนายกมีอำเภอทั้งหมด 4 อำเภอ โดยเปรียบเทียบจากการแบ่งสัดส่วนของประชากรแต่ละอำเภอ ดังนี้ อำเภอเมืองจำนวน 80 คน อำเภอบ้านนาจำนวน 56 คน อำเภอองครักษ์จำนวน 48 คน และอำเภอปากพลีจำนวน 20 คน ดังนั้น ผู้วิจัยจึงได้กลุ่มตัวอย่างครั้งนี้ จำนวน 200 คน
                              1.3   ข้อมูลเชิงคุณภาพ ผู้วิจัยใช้วิธีรวบรวมข้อมูลจากประชาชนผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Informants) ของชุมชน ได้แก่ เกษตรกรและนักท่องเที่ยว ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการมีส่วนร่วมในรูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก และหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยว จังหวัดนครนายก
                        2.   ขอบเขตด้านเนื้อหา
                              2.1   ศึกษาบริบทความเป็นมา เศรษฐกิจ สังคม และขนบธรรมเนียม ประเพณีการปลูกผลไม้ของจังหวัดนครนายก
                              2.2   ศึกษารูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก โดยการนำแนวคิดทฤษฎี ดังนี้ ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ทฤษฎีการประเมินศักยภาพพื้นที่ (Site Evaluation) และทฤษฎีพฤติกรรมนักท่องเที่ยว (Tourist Behavior) มาเป็นแนวคิดในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ หาข้อเสนอแนะและนำผลการวิจัยมาพัฒนาให้เกิดรูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก
                        3.   ขอบเขตด้านสถานที่
                              สถานที่ในการวิจัยครั้งนี้ คือ แหล่งท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก  ซึ่งการวิจัยครั้งนี้เก็บข้อมูลจากผู้มาท่องเที่ยวที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดนครนายก

เครื่องมือและวิธีรวบรวมข้อมูล
                        1.   ใช้แบบสำรวจรวบรวมข้อมูลการจัดการกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก รวบรวมโดยการสัมภาษณ์ผู้นำกลุ่ม
                        2.   การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-Dept Inteview) ซึ่งผู้วิจัยกำหนดหัวข้อรายการต่าง ๆ ที่ต้องการจะศึกษาและรวบรวม โดยใช้เครื่องมือแบบการสัมภาษณ์เป็นลักษณะของคำถามปลายเปิด (Open-Ended Question) โดยผู้ที่ถูกสัมภาษณ์มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและให้คำตอบด้วยตัวเองภายใต้หัวข้อคำถามที่ได้กำหนด
                        3.   การสัมภาษณ์เกษตรกรทั่วไปแบบมีโครงสร้าง จำนวน 10 ตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นต่อกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก
                       
การวิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูล
                        1.   การจำแนกรูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง พิจารณากิจกรรมที่โดดเด่นหรือกิจกรรมหลักของแหล่งท่องเที่ยวนั้น ๆ ที่นำเสนอนักท่องเที่ยว
                        2.   การอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก พิจารณาข้อเท็จจริงกรณีต่าง ๆ ด้านการใช้ทรัพยากรเกษตรของชุมชน ว่ามีกรณีใดบ้างที่เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยว และเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใดบ้าง
                                    
ผลการวิจัย
                        1.    ความต้องการรูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายกของนักท่องเที่ยว พบว่า ความต้องการรูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก ด้านที่พัก ต้องการที่พักที่ปลอดภัย  ด้านอาหาร  ต้องการรับประทานอาหารที่ปรุงจากผลไม้ปลอดสารพิษ ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการ  ต้องการป้ายบอกทางเข้าออกหมู่บ้านที่ชัดเจน ด้านกิจกรรมภายในชุมชน ต้องการเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวันของท่าน เช่น การทำปุ๋ยหมัก การเกษตรทฤษฎีใหม่และการเกษตรแบบผสมผสาน เป็นต้น ด้านอื่นๆ ต้องการความปลอดภัยในการใช้ชีวิตเรียนรู้อยู่ในชุมชน
                        2.    ศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ด้านทรัพยากรการท่องเที่ยว คือ ชื่อเสียงและความนิยมของนักท่องเที่ยวและสภาพแวดล้อมและการอนุรักษ์ของแหล่งท่องเที่ยว ด้านโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุน คือ ระบบรักษาความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินและสวัสดิการต่าง ๆ และความเป็นระเบียบและความสะอาดของพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว  ด้านการจัดกิจกรรมในแหล่งท่องเที่ยว คือ การจัดกิจกรรมศึกษาธรรมชาติ ชมธรรมชาติในพื้นที่

อภิปรายผล
                        จากผลการศึกษา อธิบายได้ว่า รูปแบบความต้องการรูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายกของนักท่องเที่ยว พบว่า ความต้องการรูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก ด้านที่พัก ต้องการที่พักที่ปลอดภัย ความต้องการรูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก ด้านอาหาร ต้องการรับประทานอาหารที่ปรุงจากผลไม้ปลอดสารพิษ ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการ  ต้องการป้ายบอกทางเข้าออกหมู่บ้านที่ชัดเจน ความต้องการรูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก ด้านกิจกรรมภายในชุมชน ต้องการเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวันของท่าน เช่น การทำปุ๋ยหมัก การเกษตรทฤษฎีใหม่และการเกษตรแบบผสมผสาน เป็นต้น ความต้องการรูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก ด้านอื่นๆ  ต้องการความปลอดภัยในการใช้ชีวิตเรียนรู้อยู่ในชุมชน สอดคล้องกับแนวคิดของนำชัย ทนุผล (2540 : 22-25) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศ (Agro-ecotourism) ไว้ว่า วัฒนธรรมการเกษตรนั้นประกอบไปด้วยกระบวนการผลิตและผลผลิตจากการเกษตร ซึ่งในแต่ละกระบวนการของแต่ละขั้นตอนการทำการเกษตรนั้น เช่น ความเชื่อก่อนการทำการเกษตร อุปกรณ์ เครื่องมือ วิธีการทำการเก็บเกี่ยว การดูแลรักษา การแปรรูปผลผลิต ขนบธรรมเนียม ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความหมายและมีคุณค่าอย่างลึกซึ้งที่มีการสืบทอดสิ่งต่างๆ จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ถือว่าวัฒนธรรมการเกษตรเป็นอารยธรรมการเกษตรของไทยที่ชาวต่างวัฒนธรรมไม่เคยเห็นมาก่อนและเดิมทีการเกษตรของประเทศไทยจะขายผลผลิตทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว และเอาบางส่วนเหลือไว้พอกินพออยู่ก็สามารถที่จะอยู่อย่างสุขสบาย ไม่ต้องดิ้นรนไขว่าคว้าหาอะไรมากมาย แต่ปัจจุบันสภาพทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนไปต้นทุนการผลิตสูง ค่าครองชีพสูง รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
                        ความคิดเห็นด้านความเหมาะสมเกี่ยวกับสภาพปัจจุบันของแหล่งท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก ด้านทรัพยากรการท่องเที่ยว คือ ชื่อเสียงและความนิยมของนักท่องเที่ยวและสภาพแวดล้อมและการอนุรักษ์ของแหล่งท่องเที่ยว ด้านโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุน คือ ระบบรักษาความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินและสวัสดิการต่าง ๆ และความเป็นระเบียบและความสะอาดของพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ด้านการจัดกิจกรรมในแหล่งท่องเที่ยว คือ การจัดกิจกรรมศึกษาธรรมชาติ ชมธรรมชาติในพื้นที่
                        จากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็น  (Brains storming) จากประชาชนผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Informants) ของชุมชน ได้แก่ ประธานกลุ่มเกษตรกรชาวสวนผลไม้ดีเด่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครนายก จำนวน 21 คน ซึ่งประกอบด้วย ประธานกลุ่มสวนลองกอง สวนมังคุด สวนส้มโอปลอดสารพิษ สวนมะยงชิด สวนมะปรางหวาน สวนกระท้อน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเจ้าของบ้านพักโฮมสเตย์ในสวนไม้ผล และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครนายก ซึ่งข้อมูลที่ให้สัมภาษณ์จะถูกต้องตรงกับความต้องการและเป็นข้อเท็จจริงมากที่สุด เพื่อที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครนายกจะได้นำข้อมูลจากการสัมภาษณ์ไปบรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่น เพื่อเป็นการพัฒนาอาชีพของเกษตรกรทำสวนผลไม้ให้ตรงกับความต้องการมากที่สุด
                        โอกาสและอุปสรรคการพัฒนารูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก เช่น อากาศไม่ตรงฤดูกาล ทำให้มะปราง มะยงชิด ออกไม่สม่ำเสมอ ออกช่อแต่ไม่ติดตามที่ต้องการ มีผลกระทบต่อชาวสวนเป็นจำนวนมาก (จาก 100% จะมีใช้ได้เพียง 10 %)  ขาดประสบการณ์ในการวิเคราะห์ (ความรู้มีไม่เพียงพอ) สิ่งทีต้องการ คือ ต้องการคนที่มีความรู้เฉพาะด้านมาให้ความรู้ คุณภาพขอผลไม้ต่ำลง มีสารเคมีมากขึ้น มีการป้องกันโดย การถนอมการดูแลเพื่อความสวยงาม มีการป้องการสารกค้าง ใส่ถุงเพื่อให้ผลผลิตที่ออกมามีความสวยงาม  ปริมานปุ๋ยที่ใช้
                        แนวทางการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่รองรับการเติบโตของการท่องเที่ยวสวนผลไม้เกษตรกรชาวสวนผลไม้ต้องการให้ภาครัฐ ช่วยสนับสนุนเรื่องปุ๋ย  มีการให้คำปรึกษา ของบในการจัดกิจกรรมต่างๆ (แต่มีปัญหาเรื่องระยะเวลาในการยื่นเรื่อง) ต้องการให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว มีการผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวการเกษตร เพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  สร้างเว็บไซต์  GPS จุด พิกัดสถานที่การท่องเที่ยว  สื่อโทรทัศน์ เรื่องเกี่ยวกับผลผลิต สอดคล้องกับแนวคิดของสมบัติ กาญจนกิจ (2544 : 19 - 20) กล่าวว่า การท่องเที่ยวเพื่อความสนุกสนานและความบันเทิง เป็นการท่องเที่ยวเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ เพื่อชมทิวทัศน์วัฒนธรรม ประเพณีชีวิตความเป็นอยู่ของท้องถิ่นต่างๆ หรือท่องเที่ยวไปตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลิน เพื่อเปลี่ยนสถานที่พักอาศัย ฯลฯ  เป็นการใช้เวลาว่างเพื่อการพักผ่อนร่างกายและสมองอาจรวมถึงการพักฟื้นหลังการเจ็บป่วย โดยจะใช้เวลาพักผ่อนให้นานที่สุดเท่าที่สามารถทำได้สถานที่ไปพักจะเลือกที่สงบ สะดวกสบาย อากาศบริสุทธิ์ เช่น ชายทะเล หรือภูเขาที่ห่างไกลจากความอึกทึกครึกโครม สิ่งที่เป็นปัจจัยดึงดูดนักท่องเที่ยวต้องเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ มีสถานที่พักอาศัยหรือโรงแรม และระบบการคมนาคมที่สะดวก รวดเร็ว ปัจจุบันนี้การท่องเที่ยวลักษณะนี้มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ
                        ปัญหา อุปสรรคที่มีผลกระทบต่อการทำสวนผลไม้ของเกษตรกรชาวสวนผลไม้ ได้แก่  ช่วงเวลามีจำกัด มีการประชาสัมพันธ์ที่กว้างเกิน (มีการคาดเคลื่อนในช่วงเวลา ไม่ได้ผลผลิตตามที่คาดหวังไว้)   มีข้อจำกัดของการซื้อตัดหน้าของพ่อค้าคนกลาง   ชาวสวนต้อนรับไม่เต็มที่ อุปกรณ์ในการต้อนรับไม่เต็มที่หรือมีไม่เพียงพอ อย่างเช่น โต๊ะ เก้าอี้ ห้องน้ำ แก้วน้ำ ฯลฯ  การจำกัดพื้นที่ในการเข้าไปดูสวนของชาวสวน(ชาวสวนยังไม่พร้อม)  สถานที่จอดรถไม่มีความกว้างมากพอ ถนนในการเข้าไปยังสวน มีความลึกมาก  ความสวยงามของสวน ความไม่พร้อมของสวน   คุณภาพของผลผลิต   ความรู้ที่ให้กับลูกค้าที่มาในสวน (ความรู้ในการแลกเปลี่ยนจากเจ้าของสวนไปยังลูกค้า)  ช่องทางในการติดต่อมีน้อยมาก  ขาดความรู้ทางด้านเทคโนโลยีในขยายตลาด  การสื่อสารยังไม่เข้าใจ เรื่องการใช้ภาษาอังกฤษ   แรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิต   ป้ายบอกทางของสวนยังไม่พร้อม
                        ปัจจัยที่สนับสนุนให้ธุรกิจสวนผลไม้ของเกษตรกรเจริญเติบโต ได้แก่ การพัฒนาทางด้านคน การพัฒนาเกี่ยวกับเงินทุน การพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่ เรื่องปัญหาเส้นทาง ต้องการพัฒนาความพร้อมของชาวสวนในด้านความรู้ ด้านภาษา  ควรมีสวนตัวอย่าง (ในอนาคต)
                        ผลการสัมภาษณ์เกษตรกรชาวสวนผลไม้ชาวสวนเรื่องการพัฒนารูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก พบว่า สวนผลไม้ส่วนใหญ่ปลูกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ปีสวนประมาณ 10 ไร่ และมะยงชิด ฝรั่ง กล้วยไข่ กล้วยน้ำหว้า  กล้วยหอม มะนาว และมะปรางหวาน และไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าหรือยาปราบศัตรูพืช  ใช้สารเคมีเร่งการเจริญเติบโตของต้นไม้บ้างบางครั้งใน 1 ฤดูกาลใช้แรงงานในการทำสวนผลไม้ประมาณ 5-10 คน ในอนาคตมีความคิดที่จะทำสวนผลไม้ต่อไป เพราะเป็นอาชีพ อยากให้ภาครัฐช่วยเรื่องราคาผลไม้  เงินชดเชยในสถานการณ์ที่ไม่ได้ผลผลิต อยากให้ภาครัฐช่วยเรื่องงบประมาณการประชาสัมพันธ์ เรื่องตลาดเพื่อจำหน่ายผลไม้  จัดงบประมาณในการทำสวน ส่งเสริมราคา และประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว  คุมราคาในการค้าขาย ดูแลเรื่องการใช้ปุ๋ย เพราะปีนี้ผลไม้ไม่ออกผลผลิต สอดคล้องกับแนวคิดของรำไพพรรณ แก้วสุริยะ (2544 อ้างถึงใน บุญเลิศ จิตตั้งวัฒนา, 2548) ได้กล่าวถึงรูปแบบของการท่องเที่ยว การทำสวนผลไม้ (Horticulture) เป็นการทำสวนผลไม้ทุกประเภท รวมถึงการทำสวนยางพารา สวนไผ่ สวนปาล์มน้ำมัน สำหรับประเทศไทยนับเป็นแดนสวรรค์แห่งผลไม้เมืองร้อน (Paradise of Tropical Fruits) ที่มีผลไม้มากว่า 200 ชนิดสลับกันออกตลอดปี ซึ่งผลไม้เหล่านี้จะให้คุณค่าทั้งเป็นอาหารเสริมและสมุนไพรต่อมนุษย์อีกด้วย ยิ่งในปัจจุบันเกษตรกรไทยมีความสามารถพิเศษ รู้จักวิธีการทำแผนใหม่ มีการวางแผนใหม่ มีการวางแผนการขายอย่างดี สามารถบำรุงให้ผลไม้ออกนอกฤดู ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดตลอดปี
                        ผลการสัมภาษณ์เกษตรกรชาวสวนผลไม้การพัฒนารูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครนายก พบว่า ชาวสวนปลูกส้มโอ พันธ์ขาวน้ำผึ้ง ขาวแตงกว่า ขาวใหญ่ ศักยภาพการท่องเที่ยวสวนผลไม้ของจังหวัดนครนายกที่โดดเด่นมีสวนมะยงชิด สวนเงาะ และสวนส้มโอ ปัจจัยเรื่องขนาดของผลไม้ รสชาดดี สนับสนุนให้ธุรกิจสวนผลไม้ของท่านเจริญเติบโต แนวทางการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่รองรับการเติบโตของการท่องเที่ยวสวนผลไม้เปลี่ยนการบำรุงต้นจากปุ๋ยเคมีมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนเพื่อเพิ่มรสชาด พัฒนาสวนเพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรที่สนใจ และแบ่งปันความรู้ให้เกษตรกรสามารถนำกลับไปพัฒนาสวนของตัวเอง ต้องการให้ภาครัฐ ช่วยเหลือในเรื่องปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพดี ต้องการให้ช่วยด้านเงินทุน และปุ๋ย ช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม ปุ๋ย ไฟไหม้ และเงินทุน การคมนาคมขนส่งผลไม้ออกจำหน่ายมีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย  ส่วนมากลูกค้ามาซื้อถึงสวน ออกจำหน่ายงานมะยงชิด ปรางหวานของชมรมชาวสวนมะยงชิด มะปรางหวานจังหวัดนครนายก เงินลงทุนในการทำสวนผลไม้ใน 1 ฤดูกาลใช้จำนวนทั้งหมดประมาณ  30,000 บาท ใช้จ่ายเรื่องปุ๋ย และฮอร์โมน ค่าน้ำมัน ค่าคนงาน ค่าปุ๋ย ค่าสารไล่แมลง และค่าซ่อมอุปกรณ์ ปัญหา อุปสรรคที่มีผลกระทบต่อการทำสวนผลไม้มีปัญหาเรื่องแมลง แมงวันทอง และน้ำไม่พอสำหรับภาคการเกษตร ปัญหาเรื่องผลผลิตต่าง ๆ และราคาที่ตกต่ำผลผลิตไม่ออกตามฤดูกาล ราคาไม่มาตรฐาน ต้องการให้ภาครัฐมองเห็นความสำคัญของเกษตรกรชาวสวน ซึ่งสินค้าราคาตกต่ำ แต่ปุ๋ยมีราคาเพิ่มสูงขึ้นทำให้เกิดปัญหาหนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับสมพร เทพสิทธา (2549 : 25-26) ได้กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียงหมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่ต้องมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินงานทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบเพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

ข้อเสนอแนะ
                        1.    การพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงเกษตร 
                                ควรพัฒนาการเกษตรที่มีอยู่ในชุมชนให้มีรูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ของเกษตรกรในชุมชนและตอบสนองกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หลากหลาย
                        2.    การพัฒนาการเกษตร 
                                ใช้การท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นเครื่องมือให้ชุมชนเกิดการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเกษตร โดยเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรรูปแบบการสาธิต ให้ความรู้ และแนะนำธุรกิจเกษตร ในขณะเดียวกันควรป้องกันมิให้กิจกรรมการเกษตรเพื่อการท่องเที่ยวประเภทนั้น ๆ มีจำนวนมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาผลผลิต
                        3.    การวิจัย
                                ศึกษาความต้องการ รูปแบบกิจกรรมแรงจูงใจ ในการวิเคราะห์กลุ่มตลาดเป้าหมายและกำหนด ภาพรวมของการท่องเที่ยวสวนผลไม้ในจังหวัดนครนายก มีการวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ในการกำหนดยุทธศาสตร์และกลยุทธ์โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10

เอกสารอ้างอิง
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2555). รายงานประจำปี 2555. กรุงเทพฯ : การท่องเที่ยวฯ.
ชาญชัย เพ็ชรประพันธ์กุล. (2550). รายงานการวิจัยกับการพัฒนาประเทศไทยจากแนวปรัญญาสู่การนำไปปฏิบัติจริง. ภาควิชาสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
นำชัย ทนุผล. (2540). การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ : แนวคิดและวิธีการ. เชียงใหม่ : คณะธุรกิจการเกษตรมหาวิทยาลัยแม่โจ้.
รำไพพรรณ แก้วสุริยะ . (2544). ท่องเที่ยวยั่งยืน (ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์) ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ . กรุงเทพฯ : อนุสาร อสท .
สมบัติ กาญจนกิจ. (2544). นันทนาการและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สมพร เทพสิทธา. (2548). การเดินตามรอยพระยุคลบาทเศรษฐกิจพอเพียงช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนและการทุจริต. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : สภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ.
Goldberg, Davidson. (1997). Conservation and Agriculture. New York : Prentice Hall.
Holinhoij, Jurgen H. (1996). A New Concept of Tourism Insight. Germany : Institute for Scientific Cooperation.



[1] นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
[2] The student of Communication  Arts#5 Sukhothai Thamathirat Open University.

No comments:

Post a Comment