Tuesday, October 8, 2013

“รถไฟฟ้า” ยนตกรรมแห่งอนาคต



“รถไฟฟ้า” ยนตกรรมแห่งอนาคต
เขียนโดย นายภควัต  รัตนราช

ส่วนหนึ่งของการพัฒนายนตกรรมในปัจจุบัน เป็นผลจากการประชุมเชิงวิชาการในเวทีต่างๆ ที่บทสรุปจากการสัมมนา สามารถนำมากำหนดแนวโน้มและทิศทางการวางแผนองค์กรในอนาคต โดยเฉพาะด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ปัจจุบันทุกองค์กรต่างให้ความสำคัญ และอุตสาหกรรมหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เนื่องจากต้องอาศัยพลังงานในทุกภาคส่วน คือ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับรถยนต์ ฉบับนี้จึงนำการประชุมใหญ่ 2 งาน ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา นำเสนอข้อมูลโดยรวมเกี่ยวกับทิศทางของพลังงาน และอิทธิพลของพลังงานต่อยนตกรรมในอนาคต

World Future Energy Summit (WFES)   
World Future Energy Summit (WFES) เป็นการประชุมเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงนโยบายด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการเงินที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต อีกทั้งยังเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม การประชุม WFES 2012 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ที่กรุงอาบูดาบี (Abu Dhabi) ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates,UAE) เมืองที่ตั้งเป้าว่าจะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ และไม่ใช้พลังงานจากไฮโดรคาร์บอน งานนี้มีประมุขและผู้นำจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมกว่า 148 ประเทศ มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 25,000 คน มุ่งเน้นไปที่นโยบายและกลยุทธ์การพัฒนา 3 ด้าน คือ นโยบายด้านธุรกิจการค้า, ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม, และด้านการเงินและการควบคุม ผลการประชุมมีการนำเสนอนวัตกรรม นโยบาย และข้อคิดเห็นต่างๆ มากมายในหลากหลายประเด็น ซึ่งในที่นี้จะหยิบยกนโยบายของผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กร หรือข้อคิดเห็นที่คิดว่าเป็นประโยชน์เกี่ยวข้องกับแนวโน้มพลังงานและยนตกรรมในอนาคต ดังนี้
มร.Ahmad Al Jaber, ประธานการประชุม นำเสนอเกี่ยวกับนวัตกรรมและการเติบโตในภาคพลังงานหมุนเวียน อาทิ การเพิ่มขึ้นของพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และนำเสนอทางออกให้ประเทศฝ่าผ่านวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเงิน โดยการใช้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน(Renewable Energy Industry) และระบบเศรษฐกิจสีเขียว(Green Economies)
มร.Nassir Abdulaziz Al-Nasser, ประธานสมัชชาสหประชาชาติ อธิบายถึงพลังงานต้นทุนต่ำว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น รวมทั้งให้ตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ธรรมชาติ
มร.Ban Ki Moon, เลขาธิการสหประชาชาติ เน้นการเข้าถึงพลังงานและสร้างนวัตกรรมเพื่อให้ได้พลังงานสะอาด ใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ธรรมชาติ โดยประกาศว่าในปี ค.ศ.2030 ต้องได้ประสิทธิภาพจากพลังงานเพิ่มเป็น 2 เท่า และพลังงานกว่า 30 เปอเซ็นต์ต้องผลิตมาจากพลังงานทดแทน
มร.Wen Jiabao, นายกรัฐมนตรีของประเทศจีน เน้นนโยบายด้านการควบคุมพลังงาน โดยการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อาทิ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเลือกใช้พลังงานสะอาด และวางแผนเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานนิวเคลียร์ให้มากขึ้นในปี ค.ศ.2010-2015
มร.Kim Hwang Sik, นายกรัฐมนตรีของประเทศเกาหลีใต้ เน้นลดอัตราการปล่อยคาร์บอน และกลยุทธ์การเจริญเติบโตสีเขียว(Green Growth Strategy) He underscored that Korea invests 2% of its GDP annually in green technologies and aims to become the world's fifth-largest producer of green energy by 2030.มีเป้าหมายจะเป็นอันดับ 1 ใน 5 ของโลกด้านพลังงานสีเขียวปีในปี ค.ศ.2030 และHe emphasized accelerating the worldwide spread of renewable energy and the replacement of fossil fuels.เร่งกระจายพลังงานหมุนเวียน พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
นอกจากการประกาศนโยบายด้านพลังงานของผู้นำระดับโลกแล้ว ยังมีการอภิปรายโดยผู้นำทางด้านธุรกิจพลังงานจากบริษัท องค์กรต่างๆ เกี่ยวกับพลังงานลม ก๊าซธรรมชาติ การใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งภาคการขนส่ง การพัฒนาชนบท เพื่อวางแผนเกี่ยวกับพลังงานในอนาคตและการลงทุนในตลาดพลังงานใหม่ๆ จากการอภิปรายได้บทสรุป ดังนี้ มร.Tulsi Tanti ประธาน Suzlon กล่าวเกี่ยวกับการรู้จักพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส มร.Juan Araluce ประธาน Vestas และ มร.Frank Wouters กรรมการ Masdar Power เน้นการลดใช้พลังงาน และการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มร.Bjorn Haugland จาก DNV แนะนำให้ทำวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับพลังงานทดแทน และสร้างโครงการนำร่องด้านพลังงาน มร.Steve Bolze จาก General Electric กล่าวเกี่ยวกับการลงทุนในพลังงานใหม่ๆ เพื่อความมั่นคงในอนาคต มร.Mark Carne จาก Shell กล่าวว่าในปี ค.ศ.2012 จะเป็นปีแรกที่ Shell จะผลิตพลังงานจากก๊าซมากกว่าน้ำมัน มร.Jim Brown จาก First Solar กล่าวถึงการจัดหาแหล่งพลังงานทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานทดแทน จะสามารถป้องกันความเสี่ยงจากราคาพลังงานผันผวนได้ มร.Steve O’Rouke จาก Sun Edison กล่าวว่าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นความท้าทายใหม่ๆ ทางด้านวิศวกรรม และ มร.Jean-Pascal Tricoire ประธาน Schneider Electric เน้นการใช้พลังงานต้นทุนต่ำ นอกจากนั้นยังมีการปาฐกถาพิเศษของ มร.Fatih Birol จาก International Energy Agency (IEA) เกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลกและผลกระทบจากพลังงานนิวเคลียร์ และบริเวณภายนอกยังมีการแสดงนวัตกรรมเกี่ยวกับพลังงาน โครงการด้านพลังงานขององค์กรและบริษัทต่างๆ รวมถึงโครงงานพลังงานของเยาวชนด้วย
จากนโยบายด้านพลังงานของผู้นำในการประชุม WFES 2012 ทำให้เห็นแนวโน้มที่แต่ละประเทศร่วมรณรงค์การใช้พลังงานสะอาด พลังงานทดแทน และใช้พลังงานหมุนเวียนในอนาคตเพิ่มขึ้น รวมทั้งทุกองค์กรต่างตระหนักถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ธรรมชาติด้วย

ยุทธศาสตร์ด้านพลังงานในประเทศไทย
เมื่อกล่าวถึงการประชุมด้านพลังงานของโลกแล้ว ลองกลับมาดูในประเทศไทยเกี่ยวกับแผนยุทธศาตร์ของกระทรวงพลังงาน ระหว่างปี พ.ศ.2555-2559 ซึ่งประกาศไว้ ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 มีสาระสำคัญ ดังนี้ ยุทธศาสตร์หลักๆ ด้านพลังงานของประเทศไทยประกอบด้วย 6 ยุทธศาตร์หลัก ได้แก่ 1) การจัดหาเพื่อสร้างเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ 2) การอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 3) การพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานที่สะอาด 4) การกำกับดูแลกิจการพลังงานและราคาพลังงาน 5) การผลักดันอุตสาหกรรมพลังงานให้สร้างรายได้ให้ประเทศ 6) การพัฒนาองค์กร
เมื่อพิจารณาจากแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงพลังงานแล้ว เห็นได้ว่าได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเป้าประสงค์
- เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ
- เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า
- เพิ่มประสิทธิภาพการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิต การแปรรูป และการใช้พลังงาน
รวมถึงยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานที่สะอาด ด้วยเป้าประสงค์
- พลังงานทดแทนสามารถทดแทนพลังงานฟอสซิลได้มากขึ้น
- มีการใช้พลังงานทดแทนในระดับชุมชนอย่างทั่วถึง
- มีการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพลังงานทดแทน
- มีการพัฒนากฎหมายเฉพาะในการส่งเสริมและกำกับดูแลพลังงานทดแทน
- คนไทย/นิติบุคคลไทย เป็นเจ้าของเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพในต้นทุนที่แข่งขันได้
จากแผนยุทธศาตร์ของกระทรวงพลังงานที่กล่าวมา เป็นเครื่องมือรับประกันที่ดีเกี่ยวกับแนวโน้มของพลังงานและอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคตของประเทศ ที่ตระหนักถึงการจัดหาแหล่งพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ตลอดจนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ธรรมชาติ เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดไปเชื่อมโยงกับบทสรุปจากการประชุมเชิงวิชาการ World Future Energy Summit (WFES) ครั้งที่ 26 ค.ศ.2012 พบว่า มีทิศทางไปทางเดียวกันอย่างชัดเจน ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ต้องปรับตัว เริ่มพัฒนารถยนต์ในอนาคตให้สอดคล้องกับทิศทางพลังงานในอนาคต โดยเฉพาะการใช้พลังงานสะอาดจากธรรมชาติ และใช้พลังงานทดแทนเป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันปิโตรเลียมที่เริ่มร่อยหรอลง ด้วยโจทย์ที่ว่าการออกแบบทางวิศวกรรมยานยนต์ในอนาคต ไม่ใช่เพียงแค่สร้างเครื่องยนต์ที่มีสมรรถนะสูงอีกต่อไป แต่ต้องเป็นยานยนต์ที่ประหยัดพลังงาน ลดการก่อมลพิษ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

The International Electric Vehicle Symposium and Exposition (EVS)
เมื่อกล่าวถึงทิศทางพลังงานในอนาคต มีการประชุมเชิงวิชาการและการแสดงนิทรรศการงานหนึ่งที่จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คือ The International Electric Vehicle Symposium and Exposition (EVS) เป็นการประชุมเชิงวิชาการและการแสดงนิทรรศการที่ได้รับการยอมรับจากผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ภายในงานมีการนำเสนอเทคโนโลยีของยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากแบตเตอรี่และเซลล์ไฟฟ้า การนำเสนอยนตกรรมไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่จะออกสู่ตลาดในอนาคต นอกจากนั้นยังเป็นที่ชุมนุมของนักวิชาการและผู้นำด้านอุตสาหกรรมที่มีความสนใจ ทางด้านการผลิต ด้านเทคนิค ด้านการตลาด เพื่อพัฒนายานยนต์พลังงานไฟฟ้ารองรับภาคอุตสาหกรรมการขนส่งและการเดินทาง การประชุม EVS26 ค.ศ.2012 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 26 ที่กรุงลอสแองเจอลิส(Los Angeles), รัฐแคลิฟอเนีย(California) ประเทศสหรัฐอเมริกา(United States of America,USA) ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ การอภิปรายเกี่ยวกับการใช้พลังงานไฟฟ้าของอุตสาหกรรมยานยนต์ ในปื ค.ศ.2012 อัตราการเติบโตและความมั่นคงของตลาดยานยนต์ไฟฟ้า การเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการสร้างจุดเติมพลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต การอภิปรายของตัวแทนผู้ผลิตรถและชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผู้เข้าร่วมงานยังมีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างและการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า โครงการพลังงานสะอาด และการให้ความรู้เกี่ยวกับอนาคตของยานยนต์ไฟฟ้าแก่วิศวกรและผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์โดยคณาจารย์และนักวิชาการ นอกจากนั้นภายในงานยังมีการแสดงยนตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากค่ายรถต่างๆ มากมาย อาทิ MITSUBISHI i-MiEV, NISSAN LEAF, CHEVROLET Volt All-Electric, CODA Sedan, TOYOTA Prius Plug-in, MERCEDES-BENZ B-Class F-CELL รวมทั้งการเปิดตัวของ TOYOTA RAV4EV เป็นครั้งแรกในโลก

เมื่อกล่าวถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้า(Electric Car, Electric Vehicles, EV) มาทำความรู้จักกันก่อนว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้าคืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร และมีระบบการทำงานเช่นไร
รถยนต์พลังงานไฟฟ้า คือ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังจากมอเตอร์ไฟฟ้า(Electric Motor) ที่สะสมไว้ในแบตเตอรี่ (Battery) ปราศจากมลพิษ(Pollution) เนื่องจากการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่ก่อให้เกิดการเผาใหม้ จึงไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ธรรมชาติ หรือเรียกว่า “Zero Emission” นอกจากนั้นพลังงานไฟฟ้ายังเป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดมลภาวะทางเสียง ลดการพึ่งพาการใช้น้ำมันที่นับวันจะมีราคาสูงขึ้นและเริ่มร่อยหรอลง
นอกจากจะเรียกว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าแล้ว รถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนยังถูกเรียกชื่อแตกต่างกันตามการผสมผสานการทำงานกับพลังงานอื่นๆ อีก อาทิ Hybrid Electric Cars คือ รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ทำงานร่วมกับเครื่องยนต์เผาไหม้ปกติ, Plug-in Electric Vehicles(PHEV) คือ รถยนต์ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ซึ่งทำการชาร์ตไฟด้วยการเสียบปลั๊กทำงานร่วมกับเครื่องยนต์แบบเผาไหม้ปกติ หรือรถยนต์ที่ใช้แหล่งพลังงานอื่นๆ อาทิ Solar Cars คือ รถยนต์ที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์

ประวัติศาสตร์ของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเริ่มได้รับความนิยมตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 19 เรื่อยมาจนถึงต้นทศวรรษที่ 20 นับว่าในยุคสมัยต่างๆ รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จนหลายภาคส่วนหลายองค์กร เริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ต้องยอมรับว่าปัจจุบันรถยนต์ที่นิยมใช้ส่วนใหญ่ใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันเป็นหลัก แต่ใช่ว่าน้ำมันที่ใช้อยู่จะมีให้ใช้ตลอดไป อีกไม่นานก็คงลดลงและหมดสิ้นไปในที่สุด การคิดค้นแหล่งพลังงานใหม่ๆ โดยเฉพาะแหล่งพลังงานจากธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียนจึงได้รับการวิจัย พัฒนา และแสวงหาเพิ่มขึ้น สังเกตได้จากการจัดงาน The International Electric Vehicle Symposium and Exposition (EVS) ที่นับวันจะมียานยนต์พลังงานไฟฟ้าเกิดใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่กว่าจะมาถึงการประชุมเชิงวิชาการที่นักวิชาการและผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ให้การยอมรับในปัจจุบัน มาทำความเข้าใจกันก่อนว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีที่มาที่ไปอย่างไร
บางท่านอาจเข้าใจว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่งกำเนิดขึ้นมาไม่นานมากนัก เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มมีการผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์เมื่อไม่กี่ปีมานี้ แต่แท้จริงแล้วรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการผลิตรถยนต์ยุคแรกๆ เรียกได้ว่าเกิดพร้อมๆ กับการพัฒนารถยนต์ที่ใช้พลังงานจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง และจุดระเบิดในลูกสูบ (Internal Combustion Engines) ในขณะนั้นเรียกรถยนต์ประเภทนี้ว่า “Electric Automobiles” โดยมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในยุคนั้น อาทิ ในปี ค.ศ.1897 เกิดรถแท็กซี่ไฟฟ้าจากบริษัท Electric Carriage and Wagon Company ในกรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ด้วยขีดจำกัดเรื่องระยะทางในการเดินทาง จึงมีการบริการเฉพาะในตัวเมืองเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะวิ่งได้ไม่เร็วและไม่ไกลมาก แต่ก็มีข้อดีหลายประการที่เป็นข้อได้เปรียบกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันในทศวรรษที่ 90 อาทิ สั่นสะเทือนน้อยกว่า มลภาวะทางเสียงต่ำกว่า ปราศจากมลภาวะทางอากาศ นอกจากนั้นยังสตาร์ทง่าย ออกตัวง่าย และง่ายต่อการขับขี่ ในปี ค.ศ.1899 รถยนต์พลังงานไฟฟ้าJamais Contenteจากบริษัท Camille Jenatzy ครองสถิติรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ทำความเร็วมากกว่า100 กม./ชม. ด้วยสถิติความเร็วสูงสุดถึง 105.88 กม./ชม. เป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ.1912  โรงงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ “Detroit Electric” ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าออกมาเพื่อจำหน่าย แต่ด้วยราคาที่สูงทำให้กลุ่มผู้นิยมใช้มีไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นเศรษฐีมีเงินเท่านั้น ต่อมาในระยะหลังเริ่มค้นพบน้ำมันปิโตรเลียมอย่างแพร่หลายมากขึ้น ทำให้มีน้ำมันมีราคาถูกลง ผู้ผลิตรถยนต์จึงหันไปพัฒนาเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันปิโตรเลียมแทน เนื่องจากสามารถวิ่งระยะทางได้ไกลกว่า นับจากบัดนั้นเป็นต้นมารถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็เริ่มหมดความนิยมลงไป จนเข้าสู่ยุคของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1939 และสิ้นสุดในปี ค.ศ.1945 ที่ประเทศญี่ปุ่นยอมจำนนต่อความพ่ายแพ้ให้กลุ่มพันธมิตร ภายหลังสงครามสงบ เกิดความสูญเสียมากมาย พลังงานในโลกเริ่มขาดแคลนโดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับการเกิดวิกฤตน้ำมันของโลกในปี ค.ศ.1971 ทำให้บริษัทรถยนต์หลายค่ายจึงเริ่มพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยในยุคแรกจะใช้แบตเตอรี่ชนิดตะกั่วกรดเป็นแหล่งสะสมพลังงาน ต่อมาจึงมีการพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่า และน้ำหนักเบากว่ามาแทนที่

รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในปัจจุบัน
NISSAN Leaf
เริ่มจากค่ายนิสสันเริ่มพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่น Prairie EV เป็นครั้งแรก โดยผลิตออกมาทั้งหมด 30 คัน ตามมาด้วยรุ่น Hypermini รถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นแรกที่เริ่มใช้แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน ในปี ค.ศ.1990 ซึ่งผลิตโดยความร่วมมือระหว่างนิสสันและโซนี่ สามารถวิ่งได้ไกลกว่า 100 กิโลเมตร และล่าสุดนิสสันได้ต่อยอดความสำเร็จเกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเชิงพาณิชย์คันแรกของโลกภายใต้ชื่อ NISSAN LEAF ย่อมาจาก Leading, Environmentally friendly, Affordable, Family Car รถยนต์พลังงานไฟฟ้าร้อยเปอเซ็นต์ที่ตอบโจทย์ “Zero Emission” ไม่มีท่อไอเสีย ไม่ปล่อยมลพิษ กักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนชนิดบางขนาด 90 กิโลวัตต์ ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 80 กิโลวัตต์ สามารถชาร์ตไฟกลับเข้าไปเก็บในแบตเตอรี่ใหม่ได้เมื่อแตะเบรก และวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 145 กม./ชม. วิ่งได้ระยะทางไกล 160 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง การชาร์ตไฟแบบเร็วใช้เวลาเพียง 30 นาที ได้ระดับไฟฟ้า 80 เปอเซ็นต์ของความจุทั้งหมด และใช้เวลาชาร์ตเต็มความจุของแบตเตอรี่รวมทั้งหมด 8 ชั่วโมง นอกจากนั้นนิสสันยังพัฒนาแท่นชาร์ตไฟฟ้าที่จะนำมาเติมไฟให้กับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน โดยมีมาตรฐานการชาร์ตแบบ CHAdeMO ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่ผู้ผลิตรถไฟฟ้าเลือกใช้ อีกทั้งยังมีขนาดเล็กมาก ติดตั้งง่าย โดยคาดว่าจะขายแท่นชาร์ตนี้ให้ได้ 5,000 เครื่อง ภายในปี ค.ศ.2016 ซึ่งค่ายนิสสันคาดการณ์ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเริ่มเติบโตเต็มที่


MITSUBISHI i-MiEV
ค่ายมิตซูบิชิเริ่มพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาตั้งแต่ปลายยุค ค.ศ.1960 จนประสบความสำเร็จ ในปี ค.ศ.1971 ภายใต้ชื่อ Minica EV แล้วส่งไปให้บริษัทด้านพลังงานและรัฐบาลทดสอบประมาณ 150 คัน ต่อมาช่วงปี ค.ศ.1990 แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเริ่มได้รับความนิยม บริษัทร่วมทุน Lithium Energy Japan ซึ่งก่อตั้งโดยมิตซูบิชิ มอเตอร์, มิตซูบิชิ คอร์เปอเรชั่น และ GS Yuasa จึงเริ่มพัฒนาสายพานการผลิตแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน เพื่อใช้กับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า MITSUBISHI i-MiEV ตัวใหม่ของค่าย ที่เริ่มเปิดตัวในงาน Tokyo Motor Show 2007 เป็นครั้งแรก จุดเริ่มต้นของ MITSUBISHI i-MiEV เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมของค่ายมิตซูบิชิในปี ค.ศ.2020 ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ยนตกรรมที่เชื่อมโยงระหว่างการขับขี่และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภค ชุมชน และธรรมชาติ จนเกิดยานยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ i-MiEV ขนาดเล็ก โดดเด่นไม่ซ้ำใคร ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนความหนาแน่นสูง 88 เซลล์ ในแต่ละครั้งของการชาร์ตไฟ สามารถเดินทางได้ไกล 150 กิโลเมตร พร้อมระบบการชาร์ตไฟ 2 วิธี คือ การชาร์ตโดยผ่านสายชาร์ตแบบ Full charge ใช้เวลาชาร์ตจากปลั๊กไฟบ้าน 6 ชั่วโมง หรือชาร์ตแบบ Quick charge ใช้เวลาในการชาร์ต 30 นาที ได้ระดับไฟฟ้า 80 เปอเซ็นต์ของความจุทั้งหมด i-MiEV มาพร้อมกับเครื่องยนต์ทรงพลัง ให้แรงบิดสูงสุด 180 นิวตันเมตร สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 130 กม./ชม.

ค่ายฮอนด้าเริ่มวิจัยและพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 และประสบผลสำเร็จเป็นรถยนต์ต้นแบบใช้ไฟฟ้าร้อยเปอเซ็นต์ ในปี ค.ศ.1995 จากยานยนต์ต้นแบบค่ายฮอนด้าจึงได้ต่อยอดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยเริ่มพัฒนารุ่น FCX Clarity ที่ใช้ Hydrogen fuel cell เป็นครั้งแรก ลักษณะการทำงานจะผลิตกระแสไฟฟ้าร่วมกันระหว่าง Hydrogen และ Oxygen แล้วส่งพลังงานไฟฟ้าไปขับเคลื่อนมอเตอร์ หลังจากนั้นทางค่ายได้ต่อยอดพัฒนา HONDA Fit EV รถยนต์พลังงานไฟฟ้าขึ้นมา เริ่มเปิดตัวครั้งแรกในงาน Los Angeles Auto Show  ค.ศ.2011 ระบบการขับขี่แบ่งออกเป็น 3 ระบบ ได้แก่ Normal Mode ระบบการขับขี่ทั่วไป, Sport Mode ระบบการขับขี่แบบ Sport ให้อัตราเร่งของรถเร็วขึ้นและการตอบสนองต่อคันเร่งดีขึ้น, Econ Mode ระบบการขับขี่ประหยัดพลังงาน โดยระบบจะคำนวณความเหมาะสมระหว่างกำลังของรถและโหลดเพื่อให้สามารถใช้พลังงานได้ประสิทธิภาพสูงสุด ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังสูงสุด 92 กิโลวัตต์  กักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน เมื่อชาร์ตไฟเต็มความจุสามารถเดินทางได้ไกล 197 กิโลเมตร ระยะเวลาในการชาร์ตไฟ 1 ครั้ง ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง ทางฮอนด้าคาดการณ์ว่าเตรียมนำ HONDA Fit EV ออกสู่ตลาดในปี ค.ศ.2013 นี้

TOYOTA Prius Plug-In
ค่ายโตโยต้ากับ Toyota Prius Plug-In ยนตกรรมรุ่นที่ 3 ของสายพันธ์ ที่ได้รับการพัฒนาให้ใช้พลังงานไฟฟ้าร้อยเปอเซ็นต์ มีโปรแกรมให้เลือกขับขี่ 3 โหมด ได้แก่ EV, ECO และ POWER สามารถเดินทางได้เร็ว 100 กม./ชม. ต่อการชาร์ตไฟ 1 ครั้ง โดยใช้ระยะเวลาในการชาร์ตไฟเพียง 2.5-3 ชั่วโมง เมื่อใช้แรงดันไฟฟ้า 120 โวลต์ และใช้เวลา 1.5 ชั่วโมง เมื่อใช้แรงดันไฟฟ้า 240 โวลต์ กักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนขนาด 4.4 กิโลวัตต์ ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 60 กิโลวัตต์ ให้กำลังสูงสุด 80 แรงม้า Toyota Prius Plug-In จะเปิดตัวในปี ค.ศ.2012 นี้ นอกจากนั้น Toyota Motor Sales, U.S.A. ยังร่วมมือกับ Tesla Motors พัฒนารถยนต์ไฟฟ้า SUV ภายใต้ชื่อรุ่น TOYOTA RAV4 EV เพื่อจำหน่ายในปี ค.ศ.2012  ล่าสุดในปีนี้ได้เปิดตัวรถคันดังกล่าวในการประชุมเชิงวิชาการและแสดงนิทรรศการรถยนต์ไฟฟ้า The International Electric Vehicle Symposium and Exposition 2012 (EVS) ครั้งที่ 26 ที่ผ่านมา

TOYOTA Aqua
TOYOTA Aqua รถยนต์ไฮบริดระดับ Compact  เปิดตัวครั้งแรกในงาน Tokyo Motor Show 2012 ครั้งที่ 42 ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งชื่อ Aqua จะใช้ทำตลาดในประเทศญี่ปุ่น ส่วนตลาดนอกประเทศญี่ปุ่นใช้ชื่อ Toyota Prius C แทน รูปทรงโดยรวมคล้าย Yaris 5 ประตู แต่มีขนาดเล็กกว่า ด้วยความยาวของตัวถังรถไม่ถึง 4 เมตร ให้ความสนุกสนานและคล่องตัวในการขับขี่เป็นอย่างดี อีกทั้งยังประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานเฉลี่ย 35.4 กม./ลิตร และสามารถประหยัดเชื้อเพลิงได้สูงสุดถึง 40 กม./ลิตร ขุมกำลังที่ใช้เป็นตระกูลไฮบริดผสมผสานการทำงานระหว่างมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบแถวเรียงขนาด 1.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 74 แรงม้า ที่ 4800 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 111 นิวตันเมตร ที่ 4800 รอบต่อนาที ส่วนมอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังสูงสุด 61 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 169 นิวตันเมตร เมื่อทำงานสอดประสานกันระหว่างมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์สามารถสร้างกำลังได้สูงสุด 100 แรงม้า ให้อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. อยู่ที่ 10.7 วินาที ส่งกำลังผ่านระบบเกียร์ CVT ซึ่งระบบมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ชุดใหม่ที่อยู่ใน TOYOTA Aqua นั้นมีน้ำหนักเบาเพียง 40 กิโลกรัมเท่านั้น

ค่าย BMW กับ BMW ActiveE รถยนต์พลังงานไฟฟ้าร้อยเปอเซ็นต์ ใช้โครงสร้างพื้นฐานตัวถังเดียวกันกับ BMW 1 Series Coupe แต่ได้เปลี่ยนขุมกำลังและระบบส่งกำลังใหม่ไปใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 125 กิโลวัตต์ ให้กำลังสูงสุด 170 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร ระบบส่งกำลังมีทั้งเกียร์ธรรมดาและเกียร์อัตโนมัติ ให้อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 9 วินาที ทำความเร็วได้สูงสุด 145 กม./ชม. กักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน ใช้ระยะเวลาในการชาร์ตไฟเต็มความจุ 4-5 ชั่วโมง พร้อมรักษาสมดุลของตัวรถด้วยการวางแบตเตอรี่ไว้ต่ำกว่าจุดศูนย์ถ่วงของตัวรถ นอกจากนั้นแบตเตอรี่ยังเป็นแหล่งพลังงานให้กับระบบเบรค ระบบพวงมาลัยเพาเวอร์ และระบบปรับอากาศ ตามมาตรการ BMW EfficientDynamics 

MERCEDES-BENZ A-Class E-CELL
ค่าย MERCEDES ได้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าขนาด 5 ที่นั่ง ภายใต้ชื่อ MERCEDES-BENZ A-Class E-CELL โดยใช้พื้นฐานมาจาก A-Class รุ่นพื้นฐาน คงไว้ซึ่งความสะดวกสบายและความปลอดภัยสูงสุด ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังสูงสุด 95 แรงม้า ให้แรงบิดสูงสุด 290 นิวตันเมตร ส่วนในการใช้งานปกติ มอเตอร์ไฟฟ้าจะให้กำลังเพียง 68 แรงม้า ให้อัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ภายในเวลา 14 วินาที มีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 150 กม./ชม. กักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สามารถเดินทางได้ระยะไกล 200 กิโลเมตร ต่อการชาร์ตไฟหนึ่งครั้ง ซึ่งการชาร์ตไฟนั้นสามารถชาร์ตได้ทั้งไฟบ้านที่แรงดัน 230 โวลต์ ใช้เวลา 8 ชั่วโมง และชาร์ตกับสถานีไฟฟ้าแรงดัน 400 โวลต์ ใช้เวลาลดลงเหลือ 4 ชั่วโมง

ค่ายฟอร์ดกับยนตกรรมที่สร้างชื่อเสียงในตระกูลแรลลี่โลกกับ FORD Focus Electric รถยนต์พลังงานไฟฟ้าขนาด 5 ที่นั่ง ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ให้กำลังสูงสุด 130 แรงม้า ให้แรงบิดสูงสุด 245 นิวตันเมตร สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 135 กม./ชม. กักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่แบบลิเทียมไอออนขนาด 23 กิโลวัตต์ สามารถวิ่งได้ระยะทาง 122 กิโลเมตร ต่อการชาร์ตไฟ 1 ครั้ง โดยระยะเวลาการชาร์ตไฟเต็มความจุอยู่ที่ 3-4 ชั่วโมง ที่ระดับแรงดัน 240 โวลต์ และสามารถชาร์ตไฟกลับเข้าไปเก็บในแบตเตอรี่ใหม่ได้เมื่อแตะเบรก FORD Focus Electric เริ่มเปิดตัวรถ Concept เป็นครั้งแรกในงาน Frankfurt Motor Show ค.ศ.2009  โดยใช้พื้นฐานตัวถังเดียวกับ FORD Focus รุ่นที่ 3 เริ่มผลิตจริงในปี ค.ศ.2011 และเริ่มส่งมอบรถให้กับลูกค้าได้ในเดือนธันวาคม ค.ศ.2011 โดยจะทำตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกาก่อน หลังจากนั้นทางฟอร์ดคาดการว่าในปี ค.ศ.2012 จะเริ่มจำหน่ายในยุโรป ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 5,000 คัน

ค่ายรถสวีเดนกับ VOLVO C30 Electric รถยนต์ขนาด 4 ที่นั่ง พลังงานไฟฟ้าร้อยเปอเซ็นต์ สามารถเดินทางได้ระยะทาง 144 กิโลเมตร ให้อัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. อยู่ที่ 11 วินาที สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 130 กม./ชม. กักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด 24 กิโลวัตต์ ใช้เวลาในการชาร์จไฟเต็มความจุ 8 ชั่วโมง ที่แรงดัน 220 โวลต์ VOLVO C30 Electric เพิ่งเปิดตัวยนตกรรมต้นแบบไปในงาน North American International Auto Show in Detroit ค.ศ.2010 และเปิดตัวรถConcept Car เป็นครั้งแรกในงาน Paris Motor Show ..2010 เริ่มผลิตจริงในเดือนมิถุนายน ค.ศ.2011 ที่โรงงานในประเทศเบลเยี่ยม โดยทาง VOLVO วางแผนว่าจะทำตลาดรุ่นนี้ในทวีปยุโรปก่อน โดยเริ่มส่งรถให้ลูกค้าได้ช่วงเดือนกรกฎาคม ของ ค.ศ.2011 ตั้งเป้ายอดขายหลังสิ้นสุด ค.ศ.2012 ไว้ที่ 250 คัน

                นอกจากรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ได้นำเสนอมานี้ ปี ค.ศ.2012 มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่บริษัทผู้ผลิตต่างๆ ได้ผลิตขึ้นมาอีกมากมาย อาทิ REVAi, CITROEN C1 ev'ie, Transit Connect Electric, TAZZARI Zero, SMART ED, Wheego Whip LiFe, CHEVROLET Volt, TESLA Roadster, Mia electric, BYD e6, Bollore Bluecar, RENAULT Fluence Z.E., และ Neighborhood Electric Vehicles

รถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้มีการพัฒนามานานแล้ว และดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ต่อมาเมื่อค้นพบน้ำมันปิโตรเลียมมากขึ้น และมีราคาถูกลง ประกอบกับขีดจำกัดของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในสมัยก่อน ทำให้ระยะทางการเดินทางจากการชาร์ตไฟแต่ละครั้งไปได้ไม่ไกลมากนัก ในที่สุดผู้ผลิตรถยนต์จึงหันไปพัฒนารถยนต์ที่ใช้ระบบเผาไหม้ชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่เมื่อความต้องการน้ำมันมีมากขึ้นแต่ปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้มีน้อยลง ในไม่ช้าน้ำมันปิโตรเลียมก็จะมีราคาสูงขึ้นและร่อยหรอลงไป ดังนั้นอีกไม่นานจะเป็นยุคทองของรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากธรรมชาติและพลังงานทดแทน โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่นับวันเส้นทางเริ่มสดใสมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากระบบเครือข่ายไฟฟ้าในปัจจุบันมีลักษณะครอบคลุมกว้างขวางไปทั่วประเทศ ทั้งในประเทศที่เจริญแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย การจะสร้างสถานีเติมไฟฟ้าให้รถยนต์จึงไม่ยากมากเหมือนสมัยก่อน ฉะนั้นอดใจรออีกไม่นานเราคงได้เห็นและสัมผัสรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากันอย่างแน่นอน

1 comment:

  1. บทความดังกล่าวเป็นประโยชน์ ทำให้ผู้อ่านได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น

    ReplyDelete