Tuesday, October 8, 2013

"รักษาคุณค่าใบผู้ประกาศข่าวด้วย หลักปฏิบัติ “สื่อ 5 ส”"




รักษาคุณค่าใบผู้ประกาศข่าวด้วย หลักปฏิบัติ “สื่อ 5
เสรีภาพสมดุล/ สร้างสรรค์สังคม / สำนึกรับผิดชอบ/ ส่วนร่วมของประชาชน /ส่งเสริมกฏหมายและจริยธรรม

โดย กฤชศุลี ทองเนียม  4561500051
นักศึกษาปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รุ่น 5
วันที่ 9 ตุลาคม 2556

จากคำกล่าวที่ว่า สื่อมวลชนถือว่าเป็นสถาบันหลักสถาบันหนึ่งในสังคมประชาธิปไตยที่มีความสำคัญ สื่อมวลชนมีบทบาทหน้าที่กับความเป็นสังคมโดยรวม จนมีคำเปรียบเทียบมากมาย เช่น เป็นสุนัขเฝ้าบ้าน” (Watchdog) ที่คอยรักษาผลประโยชน์ของสังคม คอยระแวดระวังภัยให้สังคมจากคนไม่ดีหรือสิ่งไม่ดี เป็น เทียนไขหรือ “ตะเกียง” (Lamp) ที่จุดประกายปัญหาให้แก่สังคม และเป็น กระจกเงา” (Mirror) สะท้อนภาพความเป็นจริงของสังคม ซึ่งคำกล่าวและคำเปรียบเปรยยังคงเป็นจริงเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้
ในอดีตการทำงานของบุคคลในสายวิชาชีพของสื่อมวลชนด้านวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ที่เรียกกันหลากหลายว่า พิธีกร ผู้ประกาศ ผู้ดําเนินรายการ ผู้อ่านข่าว ผู้รายงานข่าว โฆษก เป็นต้น จะถูกบังคับไว้ว่าให้ต้องมีใบผู้ประกาศข่าวก่อนถึงจะสามารถลงมือปฏิบัติงานได้จริง การได้มาซึ่งใบผู้ประกาศข่าวได้ถูกกำหนดเงื่อนไขและกติกาโดยรัฐบาล มีกรมประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และเป็นผู้ที่ดำเนินการอย่างเข้มข้นในการจัดฝึกอบรมและจัดสอบเพื่อขอรับใบผู้ประกาศแก่ผู้มีคุณสมบัติที่สนใจในวิชาชีพนี้ โดยคุณสมบัติที่พึงมีของผู้ประกาศ ตามที่กฎหมายกำหนด ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (.. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.. 2498  ข้อ 5 วรรค 2 ระบุคุณสมบัติผู้ที่จะเป็นผู้ประกาศของสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์ คือ (1) ต้องมีสัญชาติไทย (2) สามารถอ่าน พูด และออกเสียงภาษาไทยได้ถูกต้อง ชัดเจน (3) ไม่เป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และ(4)ได้รับใบรับรองการเป็นผู้ประกาศจากกรมประชาสัมพันธ์
ทั้งนี้ตามระเบียบกรมประชาสัมพันธ์    ว่าด้วยการออกใบรับรองเป็นผู้ประกาศของสถานีวิทยุกระจาย เสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ..2543  ข้อ 4 กล่าวว่า  ผู้ที่จะได้ใบรับรองเป็นผู้ประกาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ต้องผ่านการทดสอบเป็นผู้ประกาศตามระเบียบนี้ ยกเว้นผู้ประกาศหรือเจ้าหน้าที่กระจายเสียงของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย      ที่ผ่านการทดสอบจากกรมประชาสัมพันธ์เพื่อบรรจุให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
  เหตุผลที่กรมประชาสัมพันธ์ต้องจัดการให้มีใบผู้ประกาศข่าวตามกฏหมายนั้น ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้บุคคลในแวดวงวิชาชีพกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีมาตรฐานความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ทันกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ในด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ความรู้ทั่วไปด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาทักษะวิชาชีพ จริยธรรมและจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ มาตรฐานการใช้ภาษาในการออกสื่อฯ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพกิจการด้านสื่อสารมวลชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการทำหน้าที่ความรับผิดชอบของสื่อที่มีต่อสังคม การคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ เพื่อการพัฒนาองค์กร สังคม และประเทศชาติ
          การจัดให้มีการฝึกอบรมและจัดสอบเพื่อรับใบผู้ประกาศข่าวของกรมประชาสัมพันธ์ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 มีผลบังคับใช้ อำนาจกำกับดูแลกิจการวิทยุโทรทัศน์ที่เคยมีได้ถูกโอนเป็นขององค์กรอิสระ กรมประชาสัมพันธ์มีอำนาจเพียงแค่รักษาการก่อนการจัดตั้งองค์กรใหม่ได้สำเร็จ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการใช้อำนาจกำกับดูแล แต่ฝ่ายออกใบรับรองผู้ประกาศและผู้จัดรายการ กลุ่มมาตรฐานวิชาชีพ กองงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) ก็ยังคงทำหน้าที่รักษามาตรฐานการพูดและอ่านออกเสียงภาษาไทยของผู้ประกาศต่อไป ถึงแม้ว่าจะไม่มีองค์กรกำกับตามกฎหมายกำหนดก็ตาม
          กระทั่งปี พ.ศ. 2551 สภานิติบัญญัติที่แต่งตั้งโดยคณะปฏิวัติ ได้ผ่านพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ทำให้อำนาจหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์ในเรื่องใบผู้ประกาศหมดลงโดยสิ้นเชิง กรมประชาสัมพันธ์จึงระงับการทดสอบและการต่ออายุใบรับรองเป็นผู้ประกาศ และใบรับรองเป็นผู้จัดรายการของสถานีฯ นับตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2551 เรื่อยมา
                ในช่วงเวลา 10 ปีของการกำกับดูแลทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่ไร้หน่วยงานกำกับของรัฐ ได้มีสื่อหลายชนิดเกิดขึ้นมากมาย อาทิ วิทยุชุมชน วิทยุนอกกฎหมาย สื่อเคเบิลทีวี และสื่อผ่านดาวเทียมต่างๆ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่มีผลต่อการเกิดขึ้นของสื่อต่างๆนั้น ก็คือการปลดล็อกจากการถูกบังคับให้ต้องมีใบผู้ประกาศข่าวในการทำหน้าที่สื่อมวลชนด้านวิทยุและโทรทัศน์ ในช่วงเวลานั้นดูเหมือนว่าแนวคิดทฤษฎีอิสรนิยมจะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากในประเทศไทย  สื่อมวลชนมีเสรีภาพในการทำหน้าที่เป็นผู้แสวงหาและเสนอความจริงให้แก่สังคม โดยไม่มีการควบคุมจากรัฐ แต่จะทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐ แจ้งข่าวสาร และสร้างความบันเทิงให้กับประชาชน สำหรับการควบคุมจะเป็นการตรวจสอบตนเองในการแสวงหาข้อเท็จจริงต่างๆ มีความเป็นตลาดเสรีทางความคิด โดยสื่อสารให้เห็นผ่านออกมาทางสื่อต่างๆที่กล่าวไปแล้ว จนทำให้สื่อมีการขยายตัว มีความเจริญเติบโตในรูปแบบธุรกิจสื่อ ประกอบกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนแขนงนี้ ไม่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับใช้ของกฎหมายในเรื่องการที่ต้องมีใบผู้ประกาศข่าวรับรอง จึงทำให้สื่อมวลชนของประเทศไทยในยุคต่อมามีความอิสระในการดำเนินกิจกรรมด้านการนำเสนอข่าวสารอย่างมากมาย
          ด้วยความเป็นตลาดเสรีทางความคิด ผนวกกับความมีอิสระเสรีอย่างมากในการทำงานของสื่อมวลชน ส่งผลให้สื่อบางประเภทมีการจัดรายการที่ไม่เป็นกลาง มีอคติ เลือกข้างการเมือง สื่อบางประเภทหรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อบางคนมีคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสม มีการใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หยาบคาย หยาบโลน ใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น แม้ว่าประชาชนจะสามารถควบคุมสื่อมวลชนได้โดยการเลิกสนับสนุนสื่อนั้นๆ หรือสามารถฟ้องร้องศาลในกรณีที่เกิดปัญหาความไม่เหมาะสมของสื่อมวลชนนั้นได้ตามแนวทางของเสรีนิยมก็ตาม สื่อมวลชนประเภทที่กล่าวมาก็ยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องและดูจะมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน
          จากปรากฏการณ์ของสื่อที่ทำหน้าที่บกพร่องและขาดประสิทธิภาพดังกล่าว ทำให้ต้องย้อนกลับมาพิจารณาความสำคัญของใบผู้ประกาศข่าวด้วยหลักการและเหตุผลที่ว่า ใบผู้ประกาศข่าวเปรียบเสมือนกับเป็นเครื่องกรองคุณสมบัติของสื่อมวลชนที่ดีไว้ให้อยู่ในระดับมาตรฐาน อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวที่มีใบผู้ประกาศข่าวแต่ทำหน้าที่บกพร่องและขาดประสิทธิภาพ ก็ไม่สามารถเป็นสื่อมวลชนที่มีมาตรฐานวิชาชีพที่ดีได้ในมุมมองของประชาชน สำหรับสื่อมวลชนที่ผ่านการทดสอบและได้รับใบผู้ประกาศข่าวมาแล้ว  ก็ยิ่งสมควรที่จะต้องรักษาคุณค่าความมีมาตรฐานของใบผู้ประกาศข่าวไว้ให้ดีที่สุด เพราะกว่าจะได้ใบผู้ประกาศข่าวมานั้นไม่ง่าย ต้องผ่านขั้นตอนและเงื่อนไขมากมาย ดังนั้นผู้เขียนจึงขอนำเสนอ หลักปฏิบัติ “สื่อ 5ส” เพื่อให้สื่อมวลชนได้ยึดถือเป็นวิถีปฏิบัติในการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ดีอย่างมีคุณค่า ควบคู่ไปกับการรับประกันคุณภาพของตนเองด้วยการมีใบผู้ประกาศข่าวไว้ในครอบครอง ดังนี้ 
(1)      เสรีภาพสมดุล 
   เมื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ได้บัญญัติรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไว้ในมาตรา 45 ซึ่งอยู่ในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่าเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองนั้นจะได้รับความคุ้มครองจากรัฐกล่าวคือ การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรจะต้องคำนึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ดังเช่นที่มาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติไว้ โดยหลักสื่อมวลชนจึงมี เสรีภาพในการที่จะแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา หรือการสื่อความหมายโดยวิธีการอื่นใด     (มาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550) ซึ่งการสื่อความหมายโดยวิธีการอื่นใดหมายรวมถึง  การแสดงไม่ว่าด้วยวิธีใดๆไม่ว่าจะผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อสารสนเทศชนิดใดๆ เช่น อินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ เว็บบอร์ดเป็นต้นเพื่อให้บุคคลเข้าใจความหมาย ในฐานะซึ่งเป็นปวงชนชาวไทยด้วย ดังนั้นสื่อมวลชนจึงมีเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น ในการนำเสนอข่าวสารได้อย่างอิสระ ที่สำคัญสื่อจะต้องนำเสนอข่าวสารด้วยความเสมอภาคตรงไปตรงมา มีความเป็นกลาง ไม่มีอคติ ไม่เลือกข้างการเมืองหรือองค์กรใดๆ ทั้งนี้ต้องอยู่ในขอบเขตของกฏหมายและจรรยาบรรณในอาชีพด้วย ดังแผนภาพนี้




                                          

แผนภาพการมีเสรีภาพของสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญ

(2)      สร้างสรรค์สังคม 
   แนวคิดในการพัฒนาสังคมหรือแนวคิดการสร้างชาติ ถูกผลักดันให้สื่อมวลชนในสังคมได้นำมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ โดยได้มีการอ้างถึงแนวคิดนี้ในรายงานของคณะกรรมาธิการระหว่างชาติของยูเนสโกที่ศึกษาเกี่ยวกับปัญหาการสื่อสาร (Mcbride, 1980) ซึ่งได้แพร่หลายไปยังประเทศต่างๆรวมทั้งประเทศไทย   โดยหลักการของแนวคิดการพัฒนาของสื่อมวลชน คือ สื่อมวลชนต้องยอมรับและปฏิบัติภารกิจให้สอดคล้องกับนโยบายของชาติ ให้ความสำคัญในเรื่องที่เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรม มีการนำเสนอข่าวสารที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาในด้านต่างๆ ที่สำคัญคือสื่อมวลชนจะต้องมีความรับผิดชอบในการแสวงหาข่าวสารเพื่อการเผยแพร่ต่อสาธารณชน
ในการทำหน้าที่ด้วยหลักการของการพัฒนาแล้ว สื่อมวลชนจะต้องทำการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ โดยนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือสิ่งใหม่ๆที่มีคุณค่า หรือที่รวมเรียกว่า “การพัฒนาสร้างสรรค์สังคม” โดยเป็นการสร้างสรรค์ในเชิงบวก ทั้งนี้เพื่อสร้างและก่อให้เกิดการพัฒนาความรู้ ความคิดของผู้คนในสังคม หล่อหลอมความสุขให้กับสังคม และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยนำพาสังคมไปสู่ความสันติสุข
พระทศพล  เขมาภิรโต เขียนไว้ใน “ชีวิตเพื่อสันติสุขและสันติภาพ” ความว่า การสร้างสันติสุข สันติภาพในสังคมยุคข้อมูลข่าวสาร จึงเป็นสิ่งที่เริ่มต้นจากฐานที่สำคัญคือ ความศรัทธาในศาสนา การมีความคิดอิสระ การมีความรัก ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ และสรรพสิ่งทั้งหลาย ซึ่งเป็นฐานที่สำคัญที่ทุกคนจะต้องมีเป็นเบื้องต้น หลังจากนั้นทุกคนจึงต้องช่วยกันสร้างเศรษฐกิจพอเพียง ครอบครัวอบอุ่น สุขภาพที่สมบูรณ์ ชุมชนที่เข็มแข็ง สังคมสันติสุข และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ในส่วนของรัฐจะต้องเข้ามาเสริมในองค์ประกอบทุกๆส่วน เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์โดยครบถ้วนทุกๆองค์ประกอบ ในลักษณะของการเกิดดุลยภาพ คือคนเป็นผู้สร้างสังคม สังคมเป็นผู้สร้างรัฐ และรัฐกลับมาสร้างคนและสังคมต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆในลักษณะของการเคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นการสร้างสันติสุขและสันติภาพในลักษณะของการเคลื่อนไหว ซึ่งจะก่อให้เกิดเป็นความสมดุลของทุกๆส่วน เป็นสันติสุขที่มีความสอดคล้องและผสมผสานกลมกลืนกับธรรมชาติอย่างแท้จริง
                ดังนั้นสื่อมวลชนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคม จำต้องมีหน้าที่สำคัญในขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมอย่างสร้างสรรค์ด้วยการสร้างให้เกิดสันติสุขและสันติภาพโดยรวม

(3)     สำนึกรับผิดชอบ
แนวความคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของสื่อมวลชนนี้พัฒนาขึ้นในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 ด้วยการใช้แนวคิดเสรีนิยมในการทำหน้าที่ของสื่อมากจนเกิดปัญหา จึงนำมาสู่การทบทวนและตั้งคำถามถึงเสรีภาพของสื่อมวลชนว่า หากสื่อมวลชนใช้เสรีภาพและอิสรภาพจนเกินเลย แต่ไม่ได้พัฒนาแนวคิดเรื่อง ความรับผิดชอบจะทำให้เกิดปัญหาว่าใครจะเป็นผู้กำกับดูแลสื่อมวลชน ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามใช้กระบวนการของวิชาชีพและการกำกับดูแลตนเองก็ตาม จนในที่สุดก็เกิดเป็นแนวคิดใหม่เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งให้ความสำคัญกับเสรีภาพของสื่อ โดยตั้งอยู่บนหลักแห่งความรับผิดชอบ
เดนนิส แมคเควล (Dennis McQuail) ได้สรุปหลักการทฤษฎีความรับผิดชอบต่อสังคม ไว้ว่า  สื่อควรยอมรับในพันธะหน้าที่ต่อสังคม โดยตั้งมาตรฐานของข้อมูล ข้อเท็จจริง ความถูกต้องในระดับสูง หรือระดับมืออาชีพ มีความถูกต้อง เป็นกลางและอยู่บนพื้นฐานความสมดุล สื่อควรมีการกำกับดูแลตัวเองภายในกรอบของกฎหมาย และหลีกเลี่ยงสิ่งใดก็ตามที่นำไปสู่อาชญากรรม ความรุนแรง ความวุ่นวายของพลเมือง หรือการต่อต้านชนกลุ่มน้อย สื่อควรเป็นนักพหุนิยมสะท้อนความหลากหลายของสังคม มีการนำเสนอมุมมองที่หลากหลาย รัฐสามารถเข้าแทรกแซงสื่อ ในกรณีเพื่อความมั่นคงปลอดภัยหรือประโยชน์ของสาธารณ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน จะต้องเป็นที่วางใจหรือเชื่อถือได้ของสังคม
สำหรับในประเด็นนี้สื่อมวลชนต้องให้ความสำคัญอย่างมาก ถ้าหากสื่อมวลชนใช้เสรีภาพและอิสรภาพจนเกินเลย ซึ่งพิจารณาตามแนวบรรทัดฐานของสื่อมวลชนภายใต้หลักทฤษฏีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยสื่อมวลชนจะต้องมีความรับผิดชอบต่อการนำเสนอข่าวสารบนพื้นฐานของความเป็นจริง ถูกต้อง ตรงไปตรงมา ภายใต้การควบคุมของตนเอง และต้องมีการปฏิบัติงานตามหลักจรรยาบรรณและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน จึงจะทำให้สื่อมวลชนนั้นเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่มีทั้งเสรีภาพที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคม
(4)      ส่วนร่วมของประชาชน
   ในการดำเนินกิจการของสื่อมวลชนที่ขยายฐานเชิงธุรกิจมาตั้งแต่ยุคที่มีเสรีภาพมาก ทำให้สื่อมวลชนมีการผูกขาด ต่อมาเมื่อมีแนวคิดใหม่ของทฤษฎีสื่อมวลชนที่ประชาชนมีส่วนเข้าร่วมเกิดขึ้นเพื่อต่อต้านการผูกขาดธุรกิจสื่อ โดยเน้นเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของสื่อหรือเข้าถึงสื่อได้อย่างเสรีมากขึ้น ประชาชนมีสิทธิที่จะใช้ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนและกลุ่มวัฒนธรรมย่อยต่างๆ รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร ซึ่งการมีส่วนร่วมควรเป็นในลักษณะที่เป็นกระบวนการของการพัฒนา ภายใต้หลักการที่ว่าประชาชนควรมีสิทธิได้รับข่าวสารตรงกับที่ต้องการ มีสิทธิในการตอบกลับและมีวิถีทางการสื่อสารอย่างทั่วถึง สามารถใช้สื่อในการสนองความต้องการจำเป็น ตามความสนใจและความปรารถนาของตนเองได้อย่างเท่าเทียม  นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการของสื่อตั้งแต่เริ่มจนสิ้นสุดโครงการ ได้แก่ การร่วมกันค้นหาปัญหา การวางแผน การตัดสินใจ การระดมทรัพยากรและเทคโนโลยีท้องถิ่น การบริหารจัดการ การติดตามประเมินผล รวมทั้งการรับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากโครงการ โดยจะต้องมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนนั้นๆ เช่น กรณีของไทยพีบีเอส ซึ่งโดยเจตนารมณ์ของกฎหมายจัดตั้งองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ต้องการให้เป็นองค์กรที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นทั้งในความหมายเชิงการพัฒนาและเชิงนัยทางการเมือง ทั้งในด้านการร่วมสนับสนุนทรัพยากรและการมีอำนาจหน้าที่ เป็นต้น

(5)      ส่งเสริมกฏหมายและจริยธรรม
   ในปัจจุบันสื่อมวลชนยังคงมีอิสระในการทำงานอย่างเต็มที่ สามารถนำเสนอข่าวสารที่คัดสรรได้อย่างเสรีโดยไม่จำเป็นต้องมีใบผู้ประกาศข่าวรับรอง แต่ข้อปฏิบัติที่สื่อมวลชนทุกคนต้องกระทำอย่างจริงจังในฐานะที่เป็นนายประตูข่าวสาร (Gatekeeper) คือ สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารด้วยความรับผิดชอบอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่
(1) ความรับผิดชอบด้านกฏหมาย (Legislations) ที่สื่อมวลชนควรจะต้องศึกษากฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาท พระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยความผิดฐานละเมิดต่อชื่อเสียงเกียรติยศและทางทำมาหาได้ เป็นต้น ทั้งนี้เพราะความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นข้อจำกัด ในการใช้สิทธิ เสรีภาพประการหนึ่ง ภายใต้หลักประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
(2) ความรับผิดชอบด้านจริยธรรม (Ethics) ตามระเบียบสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพของสมาชิกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พ.ศ.  2555 (แก้ไขเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555) ว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ 7 ข้อที่สมาชิกทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติ ได้แก่ 1) นำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสาร ข้อเท็จจริง เพื่อประโยชน์สาธารณะ ด้วยความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นธรรม  2) เคารพสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิส่วนบุคคลของผู้ที่เกี่ยวข้องในข่าว  3) มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อวิชาชีพสื่อสารมวลชนและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน 4) ปกป้องและปฏิบัติต่อแหล่งข่าวอย่างเป็นธรรม 5) ให้ความเป็นธรรมต่อผู้ตกเป็นข่าว หากนำเสนอข้อมูลผิดพลาดต้องดำเนินการแก้ไขโดยทันที พร้อมขออภัยในความผิดพลาดดังกล่าว 6) ส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพของการเสนอข่าวและความคิดเห็น และ 7) ไม่กระทำการอันเป็นการบั่นทอนเกียรติคุณของวิชาชีพ หรือความสามัคคีของเพื่อนร่วมวิชาชีพ 
ความรับผิดชอบด้านจริยธรรมนี้ เป็นความรับผิดชอบที่ต้องใช้จิตสำนึกในการพิจารณาและใคร่ครวญถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่เป็นข่าว ญาติพี่น้อง และครอบครัว ในแง่ของการกำกับดูแลและควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนให้อยู่ในกรอบของจริยธรรมนั้น ซึ่งในปัจจุบันสื่อมวลชนมักถูกสังคมเรียกร้องความรับผิดชอบในเชิงจริยธรรมสูงทีเดียว

ด้วยบริบททางสังคมแห่งยุคประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบัน สื่อมวลชนยังคงมีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมด้านข่าวสารได้อย่างอิสระเสรี โดยมีใบผู้ประกาศข่าวเป็นใบรับรองการทำงานที่มีมาตรฐานในสายวิชาชีพสื่อมวลชน ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้จะไม่ได้บังคับให้ต้องมีตามกฏหมายก่อนการปฏิบัติงานด้านข่าวก็ตาม สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ผู้ประกาศข่าวทุกคนและมีใบผู้ประกาศข่าวรับรองไว้แล้วนั้น จำต้องยึดถือแนวทางปฏิบัติเพื่อรักษาคุณค่าและมาตรฐานของใบผู้ประกาศข่าวที่ได้มาไว้ในครอบครองให้คงอยู่อย่างภาคภูมิใจ และเพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพในสายงานด้วย หลักปฏิบัติ สื่อ 5 คือ “สื่อมวลชนจะต้องใช้เสรีภาพที่มีอยู่อย่างสมดุล  ดำเนินการด้านข่าวเพื่อสร้างสรรค์สังคม มีสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน  ด้วยการรักษากฏหมายและจริยธรรมของมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน”.  




เอกสารอ้างอิง

หนังสือ
กาญจนา แก้วเทพ. (2545). สื่อสารมวลชน: ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : บริษัท โรงพิมพ์ศาลาแดง จำกัด.
คณะกรรมการกลุ่มผลิต ชุดวิชาปรัชญานิเทศศาสตร์และทฤษฎีการสื่อสาร.ประมวลสาระชุดวิชาปรัชญานิเทศศาสตร์และทฤษฎีการสื่อสาร 15701. สาขาวิชานิเทศศาสตร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หน่วยที่ 8-15. สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (พิมพ์ครั้งที่ 5): 2556.
Baran J. Stanley & Davis K. Dennis. (2012). Mass Communication Theory, Foumdations, Ferment, and Future (International 6th Edition). Wadworth, Cengage Learning.
สื่อออนไลน์
การจัดการความรู้ สำนักบรรณสารและสารสนเทศ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล. สื่อสาธารณะกับการมีส่วนร่วมของประชาชน.[ออนไลน์] เข้าถึงโดย http://library.vu.ac.th/km/?p=689. เข้าถึงวันที่ 28 กันยายน2556.
 นโยบายสถานศึกษาเปิด. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. เข้าถึงโดยhttp://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94. เข้าถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2556.
ทศพล  เขมาภิรโต. ชีวิตเพื่อสันติสุขและสันติภาพ. เข้าถึงโดยhttp://www.baanjomyut.com/library/peace_and_peace/08.html. เข้าถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2556.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. เข้าถึงโดย http://www.tamanoon.com/tamanoon50/. เข้าถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2556.
วรัชญ์ ครุจิต. สื่อมวลชนกับการรับผิดชอบต่อสังคม หนังสือครบรอบ 29 ปี สมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ปี 2552. เข้าถึงโดย http://library.vu.ac.th/km/?p=689. เข้าถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2556.
ศูนย์ศึกษากฏหมายและนโยบายสื่อมวลชน.จริยธรรมสื่อ. [ออนไลน์].  เข้าถึงโดย http://www.thaimedialaw.org/index.php?option=com_content&view=category&layout=blog&id=8&Itemid=15. เข้าถึงวันที่ 28 กันยายน 2556.

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย. จริยธรรมแห่งวิชาชีพของสมาชิกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พ.. 2555. เข้าถึงโดยhttp://www.thaibja.org/thaibja/index.php?option=com_content&view=article&id=1617&Itemid=161&lang=th เข้าถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2556.


1 comment:

  1. บทความดังกล่าวทำให้ผู้อ่านได้ทราบถึง หลักปฏิบัติ “สื่อ 5ส” ได้มากขึ้นค่ะ

    ReplyDelete