Saturday, October 12, 2013

ผลงานบทความวิชาการ ภาพยนตร์ไทยในมุมมองทฤษฎีวิพากษ์


ผลงานบทความวิชาการ
ภาพยนตร์ไทยในมุมมองทฤษฎีวิพากษ์
โดย พิทักษ์ ปานเปรม

ในเบื้องต้นก่อนที่จะนำทฤษฎีเชิงวิพากษ์มาใช้ในการวิเคราะห์ภาพยนตร์ไทย ขอสรุปทฤษฎีต่างๆ ที่นำมาใช้ให้เข้าใจพอสังเขป ดังนี้
ทฤษฎีวิพากษ์เริ่มเป็นที่รู้จักในนามของทฤษฎี Marxist หรือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมือง (Politic Economy) จากทฤษฎีที่ K. Marx ได้เริ่มต้นวางพื้นฐานเอาไว้ (Baren S.J. & Davis D.K. 2012) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวคิดกลุ่ม Mass Society Theory แล้วจึงแยกย่อยออกเป็นอีกหลายทฤษฎีรุ่นต่างๆ (D. McQuail, 1987) ดังนี้ รุ่นที่ 1.ทฤษฎีมาร์กซ์ฉบับคลาสสิก รุ่นที่ 2. ประกอบด้วย 3 ทฤษฎี คือ Politic-Economic Media Theory, The Frankfurt School, Hegemic Theory of Media  และรุ่นที่ 3. Cultural Study (Birmingham School)   
                กลุ่มทฤษฎีวิพากษ์เหล่านี้จะมีหลักการและวิธีการวิเคราะห์บางอย่างที่สืบต่อมาจากทฤษฎีมาร์กซ์ฉบับคลาสสิก แต่อาจมีจุดเน้นหรือแง่มุมแตกต่างกันบางประการ อย่างเช่นทฤษฎี Politic-Economic Media Theory จะสนใจมิติด้านเศรษฐกิจการเมืองที่เข้ามามีส่วนกำหนดกระบวนการทำงานของสื่อมวลชน ในขณะที่กลุ่มทฤษฎี Neo-Marxists (Baren S.J. & Davis D.K. 2012) ซึ่งได้พัฒนาแนวคิดของ Marx จะเน้นความสำคัญในการวิเคราะห์มิติด้านวัฒนธรรม ความคิด อุดมการณ์เป็นหลักมากกว่าเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง โดยมีกลุ่มหลักๆ คือ สำนัก The Frankfurt ที่ลดความสนใจเรื่องเศรษฐกิจการเมืองแต่จะเน้นศึกษาพลังอำนาจของสื่อมวลชนที่เป็น “อุตสาหกรรมวัฒนธรรม” (Culture Industry) ส่วนอีกกลุ่มคือ Hegemonic Theory of Media นั้น ประเด็นหลักที่ศึกษาคือการต่อสู้ด้านความคิดและอุดมการณ์ในสังคมโดยพิจารณาสื่อมวลชนในฐานะเป็นกลไกลอุดมการณ์ทางสังคม เช่น โรงเรียน หรือสื่อมวลชนที่ทำงานด้วยวัฒนธรรมและความคิด แต่ทฤษฎีวิพากษ์ Cultural Study หรือสำนัก Birmingham จะเน้นศึกษาแนวคิดที่เรียกว่า Critic Cultural Study โดยให้ความสนใจการวิเคราะห์ศึกษาสื่อมวลชนในแง่มุมวัฒนธรรมด้วยทัศนะเชิงวิพากษ์ มีความคิดในทางบวกต่อสถาบันสื่อมวลชนมากขึ้น ให้ความสนใจกับวิธีการและรูปแบบที่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ในสังคมเข้ามาใช้สื่อมวลชนในฐานะที่เป็นเครื่องมือวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง
                ภาพยนตร์ที่นำมาใช้ศึกษาวิเคราะห์ด้วยมุมมองทฤษฎีวิพากษ์ ประกอบด้วยภาพยนตร์ จำนวน 3 เรื่อง คือ
1.ภาพยนตร์เรื่อง “สามชุก” นำมาวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีแนวคิด Political economy of Media
2.ภาพยนตร์เรื่อง “Final Score 360W ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ นำมาวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีแนวคิดนีโอมาร์กซิสต์ (Neo Marxist)
3.ภาพยนตร์เรื่อง “Goal Club เกมส์ล้มโต๊ะ” นำมาวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีแนวคิดวัฒนธรรมศึกษา
เหตุผลที่เลือกภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องมาศึกษาวิเคราะห์เนื่องจากภาพยนตร์เหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มภาพยนตร์เด็กและเยาวชน มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัยที่กำลังก้าวผ่านช่วงรอยต่ออายุระหว่างวัยเด็กสู่วัยรุ่น และวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ (coming-of-age) ซึ่งเป็นช่วงเวลาอันสำคัญต่อความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนที่กำลังจะก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต อีกทั้งวัยรุ่นยังเป็นวัยที่มีจำนวนเข้าชมภาพยนตร์มากกว่าวัยอื่นๆ  จึงเลือกนำมาศึกษาวิเคราะห์ในครั้งนี้

การวิเคราะห์ภาพยนตร์โดยใช้แนวคิด Political economy of Media
กรณีศึกษาภาพยนตร์เรื่อง “สามชุก”
                                   


                                                                 ภาพยนตร์เรื่อง “สามชุก”
หากนำแนวคิดของสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยสื่อ (Political economy of Media) ที่มีแนวคิดต่อเนื่องมาจากมาร์กซโดยตรง เป็นการศึกษาที่มุ่งเน้นเชิงเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดสังคมหรือเน้นในโครงสร้างส่วนล่าง มีความคิดเห็นว่าสื่อต่างๆ มีลักษณะเป็น “สินค้า” ชนิดหนึ่งไม่ต่างไปจากสินค้าในระบบทุนนิยมอื่นๆ หากมีการลงทุนในสื่อใดๆ ก็ย่อมหวังผลกำไร มีการแข่งขันกันในธุรกิจสื่อ ในบางครั้งก่อให้เกิดการกระจุกตัวของสื่อหรือการมีเจ้าของรายเดียว เกิดการขยายกิจการสื่อออกไปทั้งในแวดวงสื่อเองและองค์กรอื่นๆ ซึ่งในท้ายที่สุดการแข่งขันก็หวังเพื่อประโยชน์ของเจ้าของหรือนายทุนโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นเพียงเรื่องรองลงไป
หากมองภาพยนตร์เรื่อง สามชุก ด้วยแว่นทฤษฎีของ Political economy of Media แล้ว จะขอนำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมาวิเคราะห์ในมุมมองของสินค้าชนิดหนึ่งที่เป็นผลผลิตของอุตสาหกรรมสื่อมวลชนที่เกี่ยวโยงกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสังคมไทยมากกว่าจะนำมาวิเคราะห์ตัวเนื้อหา (content) และตัวบริบท (contextual) ที่ถูกบรรจุอยู่ในเรื่องราวของภาพยนตร์ ซึ่งจะนำมาวิเคราะห์ในส่วนของทฤษฎีอื่นๆ ต่อไป
จากมุมมองดังกล่าวภาพยนตร์เรื่อง สามชุก เปรียบเสมือนเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่ทำการผลิตเพื่อขายโดยหวังผลกำไร (กาญจนา แก้วเทพ, 2552: 125) และยิ่งเมื่อนำแนวคิดของ Political economy of Media ที่เห็นว่าผู้ที่ทำงานหรือองค์กรเกี่ยวกับสื่อจะต้องใช้กลยุทธ์การผลิต (ผลิตภาพยนตร์เรื่องสามชุก) ที่ลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด ผนวกกับการขยายกิจการสื่อออกไปยังองค์กรอื่นๆ นอกเหนือจากแวดวงการสื่อสารด้วยแล้ว หากพิจารณาสภาพการณ์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูงทั้งจากภาพยนตร์ไทยด้วยกันเองและภาพยนตร์ต่างประเทศ ทำให้การจะผลิตภาพยนตร์ไทยแต่ละเรื่องจำเป็นต้องมีการวางแผนขั้นตอนต่างๆ อย่างละเอียดรอบคอบยิ่งขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจซึ่งก็คือผลกำไรจากการฉายภาพยนตร์ และหนึ่งในวิธีการที่ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องสามชุกใช้เป็นกลยุทธ์การผลิตเพื่อลดความเสี่ยงและลดต้นทุนการผลิตก็คือ การขยายกิจการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ออกไปยังองค์กรอื่นๆ นั่นคือ การขอความร่วมมือและของทุนสนับสนุนการสร้างจากองค์กรภาครัฐอันได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) รวมทั้งองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยใช้เนื้อหา องค์ประกอบการสร้างภาพยนตร์ และประเภท (genre) ของภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับวัยรุ่นติดยาเสพติด ไม่มีดารานักแสดงชื่อดัง และเป็นภาพยนตร์เพื่อสังคมไม่ใช่ภาพยนตร์รักวัยรุ่นที่ได้รับความนิยม หากมองในแง่ธุรกิจอุตสาหกรรมภาพยนตร์แล้ว ภาพยนตร์เรื่องสามชุกอาจไม่มีโอกาสได้สร้างจากปัจจัยดังกล่าว แต่ผู้ผลิตภาพยนตร์เรื่องสามชุกกลับนำข้อจำกัดเหล่านี้มานำเสนอแก่ชนชั้นผู้มีอำนาจทางการเมืองด้วยเหตุผลว่าเป็นผลผลิตหรือสินค้าทางสื่อสารมวลชนประเภทหนึ่ง (ภาพยนตร์) ที่จะช่วยขัดเกลาและแก้ปัญหาทางสังคมในเรื่องยาเสพติด มากกว่าจะให้ความสำคัญกับผลกำไรทางธุรกิจ จนภาพยนตร์ได้รับการสนับสนุนการผลิตและออกฉายได้ในที่สุด ซึ่งช่วยก่อให้เกิดผลดีทางอ้อมต่อวิธีการทำการตลาดของผู้ผลิตภาพยนตร์อันจะนำมาสู่ผลกำไรทาง “รายได้” และเป็นการลดความเสี่ยงจากการเสียค่าใช้จ่ายดำเนินการสร้างแต่เพียงลำพัง ขณะเดียวกันก็เป็นส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กรภาครัฐหรือผู้มีอำนาจทางการเมือง (ชนชั้นสูง) อีกด้วยเพราะทำให้กลุ่ม “ผู้รับสาร” (ส่วนใหญ่คือชนชั้นล่าง) เกิดทัศนคติที่ดีต่อผู้สร้างภาพยนตร์ (อุตสาหกรรมสื่อ) และผู้ให้การสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์ (ชนชั้นสูงและผู้มีอำนาจทางการเมือง) ก่อนตัดสินใจชมว่าเป็นภาพยนตร์ (สินค้า) เพื่อสังคม ได้สาระแง่คิด มากกว่าภาพยนตร์ไทยทั่วไปที่เน้นแต่ความรักความสนุกสนาน แต่มีเนื้อหาไร้สาระ ดังจะเห็นได้จากภาพประมวลเหตุการณ์วันเปิดตัวฉายภาพยนตร์เรื่องสามชุกรอบสื่อมวลชนที่มีบุคลากรซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับแวดวงภาพยนตร์ไทยโดยตรงแต่เป็นผู้ให้การสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองและข้าราชการชั้นสูงมาร่วมงานมากมายหลายท่าน เช่น คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในช่วงที่ภาพยนตร์สามชุกออกฉาย) และคุณธีระ สลักเพชร (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในช่วงที่ภาพยนตร์สามชุกออกฉาย) เป็นต้น (เหตุการณ์ดังกล่าวถูกบรรจุอยู่ในเนื้อหาเบื้องหลังจากแผ่นดีวีดีภาพยนตร์เรื่องสามชุก)
ทั้งนี้นอกจากประโยชน์ที่ผู้ผลิตภาพยนตร์ได้รับนอกเหนือจากการสนับสนุนทางงบประมาณและการโฆษณาประชาสัมพันธ์แล้ว ภาพยนตร์สามชุกยังได้รับ “การผ่อนคลายการควบคุม” (Deregulation) มากกว่าภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ อีกด้วย(กาญจนา แก้วเทพ, 2552: 127) พิจารณาได้จากภาพยนตร์เรื่องสามชุก ได้รับการจัดเรต ส หรือส่งเสริมให้ชม ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ ปี พ.ศ.2551  ทั้งที่ภาพและเนื้อหาหลายฉากในภาพยนตร์แสดงถึงขั้นตอนและวิธีการเสพยาบ้าโดยเด็กอย่างชัดเจน ขณะที่ภาพยนตร์ไทยเรื่องอื่นๆ ที่มีภาพและเนื้อหากล่าวถึงยาเสพติดประเภทอื่นที่มีความรุนแรงน้อยกว่า (เช่นภาพยนตร์ที่มีภาพการสูบบุหรี่หรือ ดื่มสุรา) ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศและเรือนร่างนักแสดง (เช่น ภาพยนตร์เรื่อง ผู้หญิง 5 บาป, Insects in the backyard) หรือภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบัน (เช่น ภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษ, ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ, เชคสเปียร์ต้องตาย) กลับถูกได้รับการจัดเรตที่แตกต่างกันไปตั้งแต่อายุ 18 ขึ้นไป จนบางเรื่องอาจถึงขั้นถูกสั่งห้ามฉายในประเทศไทย

การวิเคราะห์ภาพยนตร์โดยแนวคิดสำนักนีโอมาร์กซิสต์ (Neo Marxist)
 กรณีศึกษาภาพยนตร์เรื่อง “Final Score 365 วัน ตามติดชิวิตเด็กเอ็นท์”
                                                  
                                     ภาพยนตร์เรื่อง “Final Score 365 วัน ตามติดชิวิตเด็กเอ็นท์”
                สำนักนีโอมาร์กซิสต์ (Neo Marxist) เป็นสำนักที่ปฏิเสธความคิดเดิมของมาร์กซิสม์และเศรษฐศาสตร์การเมืองเดิมที่มุ่งเน้นโครงสร้างส่วนล่าง ซึ่งมีผลเนื่องมาจากปัจจัยด้านสังคมในยุคนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพนาซีใช้สื่อมวลชนในการครอบงำความคิดของชาวเยอรมัน (เช่นภาพยนตร์ชวนเชื่อให้รังเกียจชาวยิวเรื่อง Triumph of the will ปี ค.ศ.1935) จึงทำให้นักวิชาการกลุ่มนี้เริ่มกลับมาพิจารณาโครงสร้างส่วนบนหรือมิติเชิงอุดมการณ์แทนว่า มิติดังกล่าวมีพลังในการครอบงำความคิดของประชาชนได้อย่างไร  
สำนักนีโอมาร์กซิสต์มีการพัฒนาต่อมาก่อให้เกิดสำนักย่อยออกเป็นสองกลุ่มคือ สำนักแฟรงคเฟิร์ต (Frankfurt School) และทฤษฎีการครองความเป็นเจ้าของด้านสื่อ (Hegemonic theory of media) โดยกลุ่มแรกคือ สำนักแฟรงคเฟิร์ต เป็นสำนักที่รวมกลุ่มนักวิชาการชาวยิวที่หนีจากประเทศเยอรมันในยุคนาซีเรืองอำนาจมาสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา สำนักนี้จึงมีทัศนะในแง่ลบต่อสื่อที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของชนชั้นนำและกดขี่ชนชั้นล่างอย่างพวกชาวยิว แต่กลับต้องประสบปัญหาเดียวกันเมื่อพบว่าสื่อมวลชนที่อเมริกาก็ยังถูกครอบงำและส่งผ่านอุดมการณ์จนทำให้ประชาชนมีลักษณะเป็นมนุษย์แบบเดียวกันหมด ไร้ความคิดการวิพากษ์วิจารณ์ จนทำให้กลายเป็นสังคมทุนนิยมและการบริโภค โดยแนวคิดสำคัญของสำนักนี้คือ “อุตสาหกรรมวัฒนธรรม (culture industry)” ที่มองว่า สื่อเป็นแหล่งผลิตวัฒนธรรมอย่างเป็นอุตสาหกรรม ดังนั้นวัฒนธรรมหรือสื่อมวลชนในปัจจุบันก็ไม่ต่างไปจากการผลิตสินค้าในรูปแบบสายงานอุตสาหกรรม
ส่วนทฤษฎีการครองความเป็นเจ้าของสื่อ (Hegemonic theory of media) นักวิชาการที่มีความสำคัญในทฤษฎีนี้คือหลุยส์ อัลทูแซร์ (Louis Althusser) และอันโตนิโอ กรัมซี (Antonio Gramsci) สนใจศึกษาแง่มิติเชิงอุดมการณ์ที่ครอบงำมนุษย์ ซึ่งทำงานผ่านสถาบันต่างๆ ทั้งโรงเรียน รัฐ ครอบครัว และสื่อมวลชน โดยมองว่าอุดมการณ์คือกรอบความคิดของมนุษย์ที่กำหนดการตีความของมนุษย์ หากมีการครอบงำอุดมการณ์ได้จากผู้มีอำนาจก็ย่อมทำให้ประชาชนคล้อยตามได้อย่างเป็นผลมากกว่าการใช้กำลังบังคับ โดยกลวิธีที่สำคัญของการใช้อุดมการณ์คือ การแบ่งขั้วและยกระดับให้ขั้วที่สนับสนุนอุดมการณ์มีสถานะที่ดีกว่าหรือสูงกว่า
ภาพยนตร์ที่นำมาศึกษาในมุมมองของแนวคิดนีโอมาร์กซิสต์ ได้แก่ภาพยนตร์เรื่อง “Final Score 365 วัน ตามติดชิวิตเด็กเอ็นท์” เป็นภาพยนตร์แนวกึ่งสารคดีเกี่ยวกับเรื่องราวการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 4 คน ในช่วงปีการศึกษา พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นปีแรกที่ใช้การสอบแอดมิดชันส์ แทนการสอบเอ็นทรานซ์ 
จากเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง Final Score มีตัวอย่างที่ชัดเจนในมิติเชิงอุดมการณ์เกี่ยวกับสถาบันและระบบการศึกษาในประเทศไทยที่มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของตัวละคร จากที่ภาพยนตร์วางเหตุการณ์อยู่ในช่วงปี พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นปีแรกที่กระทรวงศึกษาธิการ (ชนชั้นปกครอง) เปลี่ยนแปลงระบบจากการสอบเอ็นทรานซ์เป็นการสอบแอดมิดชันส์ ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการได้ทำการประชาสัมพันธ์บอกถึงเหตุผลและข้อดีของระบบดังกล่าวผ่านสื่อมวลชนอย่างกว้างขวางต่อเนื่อง จนพ่อแม่ผู้ปกครองและตัวเด็กที่กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยถูกชักจูงทางความคิด โดยปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์โต้เถียง แต่กลับเลือกที่จะปฏิบัติตาม “แนวคิด” ของชนชั้นปกครองแบบเดียวกันหมด ส่งผลทำให้เกิดเป็นเหตุการณ์ในภาพยนตร์ที่พ่อแม่ของตัวละครในภาพยนตร์ต้องตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อส่งลูกไปโรงเรียน พอเลิกเรียนผู้ปกครองก็ต้องรีบมารับลูกไปเรียนพิเศษต่อไม่เว้นแม้วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือกระทั่งตัวเด็กที่เป็นตัวละครหลักในภาพยนตร์ที่ต้องทำกฎ กติกา การสอบจากรัฐ ก็ยังไม่มั่นใจจนถึงขั้นที่ตัวละครบางคนยังไม่เข้าใจในระบบการสอบใหม่แบบแอดมิดชันส์ด้วยซ้ำไป แต่ก็ยังต้องทำตามระบบเหล่านี้ ซึ่งในสภาพการณ์ปัจจุบัน “แนวคิดเรื่องระบบการศึกษา” ดังกล่าว เริ่มแสดงให้เห็นแล้วว่ากำลัง “ล้มเหลว”เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการกำลังมีแนวคิดที่จะยกเลิกระบบการสอบเข้าแบบแอดมิดชันส์และหาแนวทางใหม่เพื่อทำให้ระบบการศึกษาในประเทศไทยพัฒนายิ่งขึ้น
แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง หากพิจารณาว่าภาพยนตร์เรื่อง Final Score เป็นการนำกลยุทธ์การ hegemony ในสื่อมวลชนมาใช้อย่างได้อย่างแนบเนียน นั่นคือรัฐ โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ใช้ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการนำเสนอ “แบบที่ไม่ต้องมีการตั้งคำถาม” เพราะ “เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า” หรือ “เป็นที่รู้กันดีแล้วว่า” เป็นสิ่งที่ดี ควรประพฤติปฏิบัติ เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม (กาญจนา แก้วเทพ, 2552: 133) นั่นคือ การสร้างภาพยนตร์ส่งเสริมการศึกษา มีเนื้อหาแสดงให้เห็นถึงการตั้งใจเล่าเรียนของเยาวชนเพื่อสอบเข้าในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ ยิ่งโดยเฉพาะหากพิจารณาเนื้อหาในภาพยนตร์ที่มีการสอดแทรกความคิดอุดมการณ์แทรกซึมอยู่ตามส่วนต่างๆ ในเนื้อเรื่อง รวมทั้งมีการแบ่งขั้ววางอยู่บนความสัมพันธ์แบบคู่ตรงข้าม (binary oppositions) (กำจร หลุยยะพงศ์,  2556: 30) ให้เห็นถึงความเป็นเด็กดี ต้องตั้งใจเรียน เพื่ออนาคตที่ดี ความเป็นเด็กเกเร ไม่ตั้งใจเรียน ไม่มีอนาคต เป็นต้น หรือการยกระดับชนชั้นสูง อย่างเช่น สถานภาพความเป็นอาจารย์ ที่มีสถานะน่าเคารพนับถือ ไม่ว่าอาจารย์จะอบรมสั่งสอนอย่างไร นักเรียนต้องเชื่อฟัง ไม่ว่าสิ่งที่อาจารย์บอกกล่าวนั้น อาจจะขัดต่อความรู้สึกและความคิดเห็นขอเด็กก็ตาม อย่างเช่นตัวอย่างในภาพยนตร์ที่ครูแนะนำให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการสอบแอดมิดชันส์ขณะที่เด็กกลับมีความรู้นึกนึกคิดที่แตกต่างแต่ก็ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นกลับแต่อย่างใด เพราะกลัวว่าหากแสดงความไม่เห็นด้วยออกไปจะกลายเป็น “พวกผิดปกติ พวกไม่ธรรมดา” ในสังคม Gramsci มีความเห็นว่าการ Hegemony ด้วยวิธีดังกล่าว น่าจะส่งผลมากกว่าการ Hegemony ทางด้านเศรษฐกิจการเมืองหรือการบังคับทางกฎหมายเสียอีก ซึ่งมีความสอดคล้องกับความคิดเห็นของวอลเตอร์ เบนจามิน จากสำนักแฟรงค์เฟิร์ต ที่กล่าวถึงสื่อมวลชนในยุคอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (culture industry) ว่าหน้าที่ของศิลปะและสื่อ (ภาพยนตร์เรื่อง Final Score) ได้เปลี่ยนจาก “หน้าที่ทางพิธีกรรมไปเป็นหน้าที่การเมือง (กาญจนา แก้วเทพ, 2548: 336) และส่งผลต่อการสร้างความคิดคล้อยตามให้เกิดกับประชาชนผู้รับชมภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เพราะสื่อ (ภาพยนตร์) ช่วยสร้างความสมจริงของ “ชีวิตจริง” จนบางครั้งอาจแยกไม่ออกจาก “ภาพยนตร์” ในขณะนั่งชม ยิ่งโดยเฉพาะจากภาพยนตร์เรื่อง Final Score ที่สร้างจากเรื่องจริงกึ่งสารคดี ตามลักษณะของสื่อในยุคอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จในการทำให้ชีวิต (life) และศิลปะ (art) ไม่แบ่งแยกกันอีกต่อไป ดังที่กล่าวว่า “ชีวิตและศิลปะเป็นเรื่องเดียวกัน” (กาญจนา แก้วเทพ, 2548: 332)

การวิเคราะห์ภาพยนตร์โดยแนวคิดสำนักวัฒนธรรมศึกษา
กรณีศึกษา ภาพยนตร์เรื่อง Goal Club เกมส์ล้มโต๊ะ
                                                               
                                                        ภาพยนตร์เรื่อง Goal Club เกมส์ล้มโต๊ะ
                สำนักวัฒนธรรมศึกษาถือกำเนิดในช่วงทศวรรษที่ 1960 ณ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม (Birmingham) ประเทศอังกฤษ มีแนวคิดพัฒนาต่อมาจากมาร์กซิสต์ สนใจมิติโครงสร้างส่วนบนคล้ายคลึงกับสำนักนีโอมาร์กซิสต์ แต่มีจุดแตกต่างคือเริ่มมีมุมมองต่อสื่อในด้านบวกมากขึ้น และเริ่มเน้นพลังของปัจเจกบุคคลในการต่อสู้ต่อรองเชิงอำนาจต่อสังคมทั้งทางชนชั้น เพศ วัย และคนกลุ่มน้อย พร้อมกับได้ประยุกต์เอาวิธีการศึกษาของแนวทางอื่นๆ เข้ามาผสมผสานด้วย (interdisciplinary) ซึ่งจัดได้ว่าเป็นการพัฒนาทฤษฎีวิพากษ์ออกไปอีกก้าวหนึ่งเรียกว่าเป็น Critical Cultural Studies (กาญจนา แก้วเทพ, 2552: 134)
                แนวทางการศึกษาของสำนักดังกล่าวสนใจศึกษาวัฒนธรรมซึ่งหมายถึงทั้งสื่อมวลชนและวัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน โดยพิจารณาว่า วัฒนธรรมดังกล่าวในด้านหนึ่งอาจถูกครอบงำทางอุดมการณ์ซึ่งผลิตจากสถาบันต่างๆ แต่ในอีกด้านหนึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้ก็น่าที่จะเป็นหนทางในการต่อสู้ต่อรองกับอำนาจที่สังคมกำหนดได้เช่นเดียวกัน โดยจะเป็นการศึกษากระบวนการทางวัฒนธรรม (cultural process) ทั้งด้านการผลิต การผลิตซ้ำ การแพร่กระจาย และการบริโภควัฒนธรรม ซึ่งครอบคลุมการศึกษาทั้งตัวบทและผู้รับสารในเวลาเดียวกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงการผลิตความหมายและการต่อรองต่อความหมาย รวมถึงการศึกษาวัฒนธรรมในมิติต่างๆ เช่น อำนาจ อุดมการณ์ ภาพตัวแทน และอัตลักษณ์  เป็นต้น โดยมองว่ากลุ่มคนจะมีอำนาจในการต่อสู้ต่อรองความหมายหรือไม่อย่างไร ภายใต้อุดมการณ์ที่สื่อมวลชนและวัฒนธรรมในสังคมกำหนดขึ้นมา
ภาพยนตร์ที่นำมาศึกษาในมุมมองของแนวคิดนีโอมาร์กซิสต์ ได้แก่ภาพยนตร์เรื่อง “Goal Club เกมส์ล้มโต๊ะ” ออกฉายครั้งแรกในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2544 ผลิตโดยบีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ และจัดจำหน่ายโดยฟิลม์บางกอก เป็นภาพยนตร์ไทยเนื้อเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของกลุ่มวัยรุ่นที่เพิ่งเรียนจบ แล้วเข้าไปพัวพันกับการพนันบอลโดยเป็นเด็กเดินโพย แต่เมื่อเงินที่ได้จากการเดินโพยไม่พอที่ใช้ทำตามฝันได้ จึงร่วมกันโกงโต๊ะพนันบอล จนในท้ายที่สุดก็ต้องหาทางล้มโต๊ะ เพราะถูกเจ้าของโต๊ะจับได้ นำความสนุกและความคึกคะนองไปสู่ความลุ่มหลงมัวเมาและความหายนะกับพวกเขานี้ในที่สุด
                หากใช้แนวคิดของสำนักวัฒนธรรมมาทำการศึกษาวิเคราะห์บริบท (contextual) ในภาพยนตร์เรื่อง เกมส์ล้มโต๊ะ โดยนำเอาแนวคิดของ R. Williams ที่ให้ความสนใจการต่อสู้ทางวัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน (culture of the day) มาเป็นกรอบการวิเคราะห์ แล้วนำมาศึกษาหน่วยย่อยในระดับเล็กที่สุดของสังคมนั่นคือในระดับปัจเจกบุคคลของตัวละครต่างๆ ในภาพยนตร์ว่าชีวิตประจำวันของตัวละครเป็นอย่างไร ถูก “สร้าง” (construct) ขึ้นมาได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นชีวิตคนแต่ละเพศ (gender) แต่ละวัย (generation) แต่ละฐานะ จะถูกกำหนดว่าในช่วงเวลาใด ควรต้องอยู่ที่ไหน กับใคร ต้องทำกิจกรรมอะไร มีเป้าหมายอย่างไร และได้ผลอย่างไร จะเห็นว่าเนื้อหาในภาพยนตร์ได้แบ่งตัวละครหลักๆ ให้มีความแตกต่างกันทางลักษณะประชากรและสถานภาพทางสังคมอย่างหลากหลาย ตัวละครบางคนเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย พ่อแม่มีฐานะก็สามารถเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ แต่บางคนยากจนต้องทำงานและเรียนไปด้วย ในขณะที่บางคนถึงกลับไม่สามารถเรียนต่อได้แต่ทำงานหาเลี้ยงตัวเอง
                จากบทบาทตัวละครแต่ละคนในภาพยนตร์ แสดงให้เห็นว่าตัวละครเหล่านี้ถูก “สร้าง” ขึ้นมาเพื่อเป็นภาพตัวแทน (representation) ของชนชั้นล่างที่มักถูกกดขี่ข่มเหง ครอบงำจากผู้มีอำนาจสูงกว่า ทั้งจากผู้มีฐานะที่ดีกว่า อย่างเช่นเสี่ยเจ้าของโต๊ะบอล ที่ดูถูกเหยียดหยามด้วยการใช้สินค้าฟุ่มเฟือยราคาแพง หากพิจารณาตามหลักวัตถุนิยม (คนมี-คนไม่มี, เสี่ยเล่นการพนันจึงรวย-พระเอกไม่เล่นการพนันจึงจน) หรือแฟนหนุ่มคนใหม่ของนางเอกที่ทั้งรวยและมีการศึกษาสูงกว่าพระเอก (สถานภาพทางเศรษฐกิจและการศึกษาที่สูงกว่าจึงกดขี่ข่มเหงได้)
Gramsci  มองว่า “ที่ใดมีการครอบงำที่นั่นย่อมมีการพยายามต่อสู้ต่อรองเชิงอำนาจของมนุษย์” เมื่อพระเอกและเพื่อนๆ ในกลุ่มที่ถูกกดขี่ข่มเหงครอบงำด้วยปัญหาครอบครัว การศึกษา และเศรษฐกิจ แม้ตัวละครแต่ละคนจะมีปัญหาแตกต่างกัน แต่พวกเขาก็หาทางต่อสู้ขัดขืนกับปัญหาเหล่านั้นด้วยวิธีเดียวกันแต่เป็นการแก้ปัญหาที่ผิดวิธีเพราะใช้ “การพนัน” เป็นหนทางแก้ไข จนทำให้พวกเขากลายเป็นพวกคนชายขอบ (marginal) ไม่เป็นที่ต้องการของสังคมและมีความผิดทางกฎหมาย
หากวิเคราะห์ในมุมมองของผู้รับสาร ในเรื่องการถอดรหัสความหมายของเนื้อหาที่ปรากฏในสื่อมวลชน (Stuart Hall) เมื่อผู้รับสารหรือผู้ชมภาพยนตร์เรื่องเกมส์ล้มโต๊ะได้รับชมภาพยนตร์แล้ว มีความเป็นไปได้ที่ผู้ชมแต่ละคนอาจจะมีการถอดรหัสหรือตีความหมายภาพยนตร์ที่แตกต่างกันไป ผู้ชมบางคนเมื่อชมภาพยนตร์เรื่องเกมส์ล้มโต๊ะแล้วอาจมีลักษณะ Preferred reading คือชมแล้วเชื่อถือตามที่ภาพยนตร์สื่อออกมาทุกประการว่า การพนันภัยต่อเยาวชนและสังคม สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และกฎหมายสามารถเป็นที่พึ่งพาและช่วยแก้ไขปัญหาได้ หรือผู้ชมบางกลุ่มก็อาจมีลักษณะ Negotiated  reading  (กาญจนา แก้วเทพ, 2548 349) ที่เมื่อชมแล้วยังมีการต่อรองกับความหมายที่ถูกส่งผ่านออกมาจากเนื้อหาในภาพยนตร์ คืออาจมีความเชื่อว่าแม้การพนันจะเป็นภัยต่อเยาวชนและสังคมแต่ก็ยังมีปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นและยังไม่ได้รับการแก้ไขด้วยเช่นกัน ปัญหาติดการพนันบางครั้งอาจไม่ได้เกิดจากตัวเด็กโดยตรงแต่อาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมรอบข้างทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหาเด็กติดการพนัน

A.A Berger (Media Analysis Techniques, 1982) เคยยกตัวอย่างโดยสมมติว่ามีนักวิจารณ์ 4 ท่าน กำลังนั่งชมละครโทรทัศน์ เนื้อหาในละครมีฉากที่ตัวละครถูกยิง นักวิจารณ์ทั้ง 4 ท่านต่างมาจากกองบรรณาธิการของหนังสือ 4 เล่ม คือ วารสารด้านสังคมศาสตร์ วารสารด้านจิตวิทยา วารสารด้านภาษาและสัญญะวิทยา กับวารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง นักวิจารณ์เหล่านี้ก็จะมีแนวทางการเขียนที่แตกต่างกันไป นักวิจารณ์สายเศรษฐศาสตร์การเมืองจะวิเคราะห์ให้เห็นถึงความแปลกแยกของตัวละคร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างสังคมที่พิการของระบบทุนนิยม นักวิจารณ์สายจิตวิทยาจะวิเคราะห์โดยใช้แนวคิดเรื่อง ปมโอดิปุส และความล้มเหลวของ Superego นักวิจารณ์สายภาษาและสัญญะวิทยาก็จะหยิบจับเอาองค์ประกอบต่างๆ ของละคร เช่น ภาษาพูด ภาษาภาพ สีหน้าตัวละคร ฉาก ที่มีความหมายแฝงเร้นอยู่มาตีความ และนักวิจารณ์สายสังคมศาสตร์ก็จะพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างละครกับสังคมที่เป็นจริงว่า คนกลุ่มไหนในสังคมที่ถูกนำเสนอบ่อยครั้งในละคร แล้วคนกลุ่มใดที่ไม่มีบทบาทหรือตัวตนในละครเลย
ตัวอย่างของ A.A Berger แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เมื่อนำเอาทฤษฎีที่แตกต่างกันมาวิเคราะห์วัตถุดิบชิ้นเดียวกัน ก็จะได้มุมมองที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้เนื่องจากแต่ละทฤษฎีต่างมีวิธีการคิดและแนวทางศึกษาที่แตกต่างกัน
การนำแนวคิดทฤษฎีวิพากษ์ต่างๆ มาทำการ “ส่อง” เพื่อวิเคราะห์ภาพยนตร์ก็มีความคล้ายคลึงกันว่า ถึงจะเป็นภาพยนตร์เรื่องเดียวกันแต่หากนำมาวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ด้วยมุมมองและแนวคิดที่แตกต่างกันแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนั้นก็มีแง่มุมที่น่าศึกษาในมิติที่หลากหลายน่าสนใจและมีคุณค่ายิ่งขึ้น


บรรณานุกรม

กาญจนา แก้วเทพ. การศึกษาสื่อมวลชนด้วยทฤษฎีวิพากษ์. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, 2541.
กาญจนา แก้วเทพ. การวิเคราะห์สื่อ แนวคิดและเทคนิค. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, 2552.
กาญจนา แก้วเทพ. ปรัชญานิเทศศาสตร์และทฤษฎีการสื่อสาร. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2548.
กาญจนา แก้วเทพ. สื่อสารมวลชน ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, 2552.
กำจร หลุยยะพงศ์. ภาพยนตร์กับการประกอบสร้างสังคม ผู้คน ประวัติศาสตร์ และชาติ กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556.

12 comments:

  1. เป็นบทความที่ดีค่ะ ได้มุมมองดีๆจากภาพยนตร์ มีประโยชน์ต่อการศึกษาทฤษฎีวิพากษ์และการนำทฤษฎีไปใช้ในอีกสถานการณ์ที่ไม่ค่อยจะได้อ่านนัก

    ReplyDelete
  2. บทความนี้น่าประทับใจมากค่ะ ได้ความรู้เรื่องการนำทฤษฎีวิพากษ์มาใช้กับงานภาพยนตร์ ช่วยทำความเข้าใจกับทฤษฎีได้ดีขึ้น

    ReplyDelete
  3. ภาพยนตร์เรื่อง Final Score 365วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์
    จากการที่ได้อ่านบทความในหัวข้อนี้ทำให้รู้ว่าในภาพยนตร์เรื่อง final Score 365วัน มีการนำ กลยุทธ์ และ ทฤษฎีต่างๆมาใส่ไว้ในภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อเป็นการ ชักจูง และให้แนวคิดกับผู้ชม โดยการวางกลยุทธ์ hegemony ในสื่อมวลชนมาใช้อย่างได้อย่างแนบเนียนโดยที่ผู้ชมนั้นแทบจะไม่รุ้เลยว่าเรากำลังถูก ชักจูง ไปในที่ผู้สร้างได้กำหนดไว้

    ภาพยนตร์เรื่อง Goal Club เกมส์ล้มโต๊ะ
    จากการที่ได้อ่านบทความของภาพยนตร์เรื่องนี้ ในบทความนี้จะเน้นไปในด้านของแนวคิดของแต่ละคนที่ยกขึ้นมาซึ้งแต่คนละคนนั้นก็จะมีทฤษฎีที่ต่างกันออกไป โดยทั้งหมดนั่นจะให้ความหมายที่ไม่เหมือนกัน ซึ้งในแต่ละด้านของคนที่กล่าวขึ้นมานั้นก็ได้วิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่องนี้ต่างกันออกไป

    ทศพร อวิรุทธ์วรกุล
    53344682 การสื่อสารมวลชน

    ReplyDelete
  4. ภาพยนตร์เรื่อง Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ เป็นภาพยนตร์แนวสารคดีเกี่ยวกับเรื่องราวการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 4 คน ในช่วงปีการศึกษา พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นปีแรกที่ใช้การสอบแอดมิดชั่นส์ แทนการสอบเอ็นทรานซ์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนอย่างหนึ่งของระบบการศึกษาไทย ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอชีวิตของเด็กวัยรุ่นไทยที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย ว่ามีการเตรียมตัวอย่างไร ใช้ชีวิตแบบไหน เป็นการสะท้อนความคิดและการใช้ชีวิตของเด็กมัธยมศึกษาปีที่6 ที่ชีวิตกำลังจะเปลี่ยนไปในอีกระดับหนึ่ง เพราะการแอดมิดชั่นส์ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของวัยรุ่นไทยในช่วงนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอตามความเป็นจริง ในรูปแบบเรียลลิตี้โชว์ เฝ้าติดตามถ่ายนักแสดงนำทั้ง 4 คน เป็นเวลา 1 ปี โดยไม่มีบท และไม่มีใครทราบล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น จากนั้นจึงนำเรื่องราวทั้งหมด มาตัดต่อเป็นภาพยนตร์

    เสาวลักษณ์ แท่นทอง 54343462

    ReplyDelete
  5. ชอบวิธีการวิจารณ์ของผู้เขียน มีการยกตัวอย่างและอ้างอิงถึงแต่ละทฤษฎี อ่านออกมาแล้วเห็นเป็นภาพเข้าใจได้ง่าย แม้ว่าจะไม่ได้เรียนการวิจารณ์แบบเจาะลึก
    ภาพยนตร์แต่ละเรื่องนั้น มีแนวคิดทฤษฎีที่แตกต่างกันออกไป
    ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเนื้อหา วีธีการสร้าง หรืออาจเชื่อมโยงไปถึงการสื่อสารกับผู้ชม
    แต่ถึงอย่างไรก็ตามภาพยนตร์จะมีคุณค่าหรือไม่นั้น
    ขึ้นอยูุ่กับว่าใครจะหยิบยกหรือนำเอาทฤษฎีใดไปตัดสินให้กับภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ

    ส่วนตัวคิดว่า คุณค่าของภาพยนตร์อยู่ที่คนชมตัดสิน
    Chitsophin*

    ReplyDelete
  6. ภาพยนต์เรื่อง Goal club เกมล้มโต๊ะ เป็นภาพยนต์แนวชีวิตเด็กวัยรุ่น โดยนำเสนอเรื่องราวชีวิตของเด็กกลุ่มหนึ่ง ตั้งแต่มัยมัธยมปลายจนจบม.6 และต่างคนแตกแยกย้ายกัน แต่เด็กกลุ่มนี้ยังอยู่ด้วยกัน โดยที่ไม่เรียนและไม่ทำงาน วิธีการหาเงินคือการเล่นการพนัน เริ่มจากการพนันเล็กๆน้อยๆ จะไปถึงการเป็นเด็กเดินโพยบอล ซึ่งทางเจ้าจะแบ่งเปอร์เซ็นให้แล้วแต่จำนวนเงินที่แทง เด็กกลุ่มนี้โหยหาแต่เรื่องเงิน จึงเกิดการยักยอกเงินของเจ้า โดยตั้งตัวเป็นคนรับแทงเอง เอาเงินไปใช้เอง นานเข้าเรื่องเริ่มแดง จึงเกิดการไล่ล่า และสุดท้ายก็เดิมพันด้วยชีวิต หนังเรื่องนี้สะท้อนสังคมให้เห็นว่าการพนันมีอยู่แทบจะทุกที่ รวมทั้งการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเด็กกลุ่มนี้แต่ละคนยอมทำและยอมโกงเพื่อทำเงินไปทำตามความฝันของแต่ละคน

    โกวิท ด่านแก้ว 54343110

    ReplyDelete
  7. This comment has been removed by the author.

    ReplyDelete
  8. สำหรับภาพยนตร์เรื่องสามชุกเปรียบเป็นสินค้าที่มีคุณค่า แต่ไม่มีรูปรสหอมหวานพอที่จะดึงดูดแบบหนังรักวัยรุ่นทั่วไป แต่ทีมภาพยนตร์ยังต้องการที่จะนำออกมาเสนอในแง่มุมถึงสิ่งเลวร้ายหรือความเลวร้ายของยาเสพติด ที่คนเสพเข้าไปนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่จะช่วยขัดเกลาและแก้ปัญหาทางสังคมในเรื่องยาเสพติด มากกว่าจะให้ความสำคัญกับผลกำไรทางธุรกิจ ก็ถือว่าเป็นข้อดีเช่นกันที่ทำภาพยนตร์แนวนี้ออกมา
    365 วันตามติดชีวิตเด็กเอ็น เป็นภาพยนตร์แนวกึ่งสารคดีการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กนักเรียน 4 คน ในช่วง พ.ศ. 2548 เป็นปีแรกที่ใช้การสอบแอดมิดชันส์ แทนการสอบเอ็นทรานซ์ แสดงให้เห็นถึงการเตรียมตัวของเด็กก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ต้องอ่านหนังสืออย่างไร อ่านหนักแค่ไหน แต่ก็อาจจะมีเหตุผลเดียวกันคือ หนังไม่ได้เน้นความสนุกสนาน สวยหรูหรือน่าติดตาม แต่เป็นกึ่งนำความจริงออกมาเสนอให้คนรับรู้ถึงความจริง รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและอาจจะได้พบเจอ

    วชิรวิทย์ พุทธิมา
    53344835 การสื่อสารมวลชน

    ReplyDelete
  9. ภาพยนตร์เรื่อง Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์
    หากนำทฤษฎีการครองความเป็นเจ้าของสื่อ มาใช้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าในภาพยนตร์เรื่องนี้มีการชักจูงผู้ชม จากการสอดแทรกแนวคิด และคำสอน ของ ผู้ใหญ่ และ ครู ต่อตัวนักเรียนนั้น หากผู้ชมไม่มีความคิดที่จะปฏิเสธแนวคิดและคำสอนนั้น ก็จะทำให้ได้รับแนวคิดที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการจะสื่อเต็ม ๆ โดยแนวคิดหลัก ๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ คนที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีการเรียนที่ดี มีงานที่รองรับ และได้รับเงินตอบแทนจำนวนมาก หากไม่คิดตามและเชื่อแนวคิดนี้เลย ก็จะไม่รู้ว่า คนที่จะประสบความสำเร็จนั้น บางครั้งก็ตั้งมีปัจจัยอื่น ๆ อยู่ด้วย เช่น โอกาศและเวลาที่เหมาะสม รวมไปถึงความคิดที่แปลกใหม่ด้วย คนที่ประสบความสำเร็จบางคนก็ไม่ได้เรียนจบในระดับสูง แต่มีความคิด และ กล้าที่จะลงมือทำ

    53343098 พรเทพ ศักดิ์สิทธิ์

    ReplyDelete
  10. นายเทิดศักดิ์ ศรีพิทักษ์

    53344699 ปี4

    จากภาพยนตร์เรื่อง “สามชุก” ทฤษฎีต่างๆสามารถทำให้ได้ความเข้าใจในจุดประสงค์หลัก โดยเฉพาะการได้ผลกำไรทางตรงของภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งได้จากกระทรวงและราชการต่างๆ ผมคิดว่าว่าเงินของภาพยนตร์จะได้มาอย่างไรในการผลิตเพราะว่าอุตสาหกรรมของภาพยนตร์นั้นต้องเน้นไปที่เนื้อหาที่นิยม นักแสดงทีมีชื่อเสียง แต่เรื่องนี้เป็นการหวังผลกำไรจากกลุ่มรัฐบาลต่างๆ โดยช่องทางในการสื่อออกไปนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการสนับสนุนจากพวกข้าราชการ

    สรุปได้ว่าภาพยนตร์เรื่องสามชุกนั้นจะเปรียบกับการขายภาพยนตร์ให้กับกระทรวงต่างๆในการแสวงหารายได้

    ภาพยนตร์เรื่องGoal Club เกมล้มโต๊ะ ผมคิดว่าเป็นการสื่อในด้านค่าความคิดของแต่ละคนคิดอย่างไร กับตัวละครในการดำเนินเรื่อง เหมือนจะบอกความนัยของชนชั้นที่ต่างกันในสังคมและต้องการบอกถึงในสังคมเรื่องแบบนี้ยังคงมีอยู่จริง

    ReplyDelete
  11. ภาพยนต์เรื่อง Goal club เกมล้มโต๊ะ ที่นำเสนอชีวติของวัยรุ่นในสมัยนั้น โดยที่มีชีวิตความเป็นตามช่วงเศรษฐกิจในสมัยนั้นที่ต้องเลี้ยงดูชีวิตตัวเองและมีสภาพสังคมกำลังฟื้นตัวจากปัญญาทางเศรษฐกิจและต้องหาเงินเพื่อตั้งตัว
    สิ่งที่ได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ ทำให้เห็นสภาพเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวและความเป็นอยู่ของวัยรุ่นที่จะดิ้นรนหาเงินใช้และต้องงทำในสิ่งผิดกฎหมายเพื่อเลี้ยงชีพตนเองและวิธีที่ต้องหาวิธีเอาตัวรอดในสังคม ทั้งสนองความต้องการของตนเองและความรักในกลุ่มเพื่อนฝูง



    54343097 กรัณฑรัตน์ ท้วมภู่ทองดี

    ReplyDelete
  12. ภาพยนต์เรื่อง Goal club เกมล้มโต๊ะ ที่นำเสนอชีวติของวัยรุ่นในสมัยนั้น โดยที่มีชีวิตความเป็นตามช่วงเศรษฐกิจในสมัยนั้นที่ต้องเลี้ยงดูชีวิตตัวเองและมีสภาพสังคมกำลังฟื้นตัวจากปัญญาทางเศรษฐกิจและต้องหาเงินเพื่อตั้งตัว
    สิ่งที่ได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ ทำให้เห็นสภาพเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวและความเป็นอยู่ของวัยรุ่นที่จะดิ้นรนหาเงินใช้และต้องงทำในสิ่งผิดกฎหมายเพื่อเลี้ยงชีพตนเองและวิธีที่ต้องหาวิธีเอาตัวรอดในสังคม ทั้งสนองความต้องการของตนเองและความรักในกลุ่มเพื่อนฝูง



    54343097 กรัณฑรัตน์ ท้วมภู่ทองดี

    ReplyDelete