Wednesday, October 30, 2013

อัตลักษณ์ของศิลปินไทยกับการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม



อัตลักษณ์ของศิลปินไทยกับการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม
      Thailand identity of the artist's cross-cultural communication.
ณัฏฐ์ เดชะปัญญา
นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชานิเทศศาสตร์ รุ่นที่ 4 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
อาจารย์สาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา / ประธานบริหารบ้านสมเด็จฯเอนเตอร์เทนเมนท์


ด้วยประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2559 ซึ่งหมายถึงการเปิดเสรีการค้า การบริการ การลงทุน การเงิน และแรงงานฝีมือกับอีก 9 ประเทศสมาชิกอาเซียน ตามพันธกรณีที่ได้ทำไว้ร่วมกันในการรวมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน เสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน และเพิ่มอำนาจการต่อรองในเวทีการค้าโลก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือดังกล่าวนอกจากจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม การค้า และการบริการ แล้ว การไหลบ่าของวัฒนธรรมต่างชาติที่เข้ามาอย่างเสรีอันเนื่องมาจากการสื่อสารที่ไร้พรมแดน ก่อให้เกิดการครอบงำวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิม โดยเฉพาะกระแสเกาหลีฟีเวอร์ จริงหรือไม่ที่ว่า ตอนนี้มองไปทางไหนในบ้านเมืองเราก็จะเจอแต่ความเป็นเกาหลีอยู่แทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะแนวเพลงเกาหลี หนังเกาหลี ซีรี่เกาหลี ดารานักร้องเกาหลี แฟชั่นเกาหลี ทรงผมเกาหลี เครื่องสำอางค์เกาหลี เครื่องดื่มเกาหลี เลยไปจนถึง เนื้อย่างเกาหลี
                 กระแสการไหลบ่าของวัฒนธรรมต่างชาติกำลังส่งผลกับเยาวชนไทยอย่างน่าเป็นห่วง รวมถึงการนิยมใช้สินค้าต่างชาติจนทำให้ประเทศไทยเสียดุลย์การค้า และในที่สุดประเทศไทยก็จะอาจกลายเป็นเมืองขึ้นทางวัฒนธรรมของชาติอื่นไปโดยไม่รู้ตัว การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศรวมถึงเครื่องมือสื่อสารการตลาดอย่างครบวงจร จะเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถทำให้การสร้างอัตลักษณ์ของศิลปินไทยเกิดขึ้นและขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้เป็นรูปธรรม
                  จากปรากฎการณ์นิยมเกาหลี ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น คงเป็นเรื่องธรรมดาของการไหลบ่าทางกระแสวัฒนธรรมข้ามชาติ ซึ่งถือเป็นความปกติของยุคสมัยที่โลกเชื่อมต่อถึงกันได้หมด และหากมองให้ดีๆแล้ว กระแสนิยมเกาหลีนั้น ก็คงเหมือนกับกระแสนิยมอื่นๆ ที่เคยฮิตกันอยู่ในบ้านเมืองเรามาก่อนหน้านี้ คือมีช่วงที่พีคกันสุดขีดและลดหลั่นลงตามสมัยนิยม ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและการคมนาคมภายใต้ระบบทุนนิยมโลกถือเป็นหัวใจสำคัญของโลกานุวัตร ระบบการสื่อสารช่วยส่งผ่านประสบการณ์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม วัตถุนิยมจากสากลมาผนวกรวมเข้ากับท้องถิ่น ก่อให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ค่านิยม และระบบคุณค่าต่างๆในสังคมไทย

                   ลักษณะดังกล่าวก่อให้เกิดความฉาบฉวยชั่วแล่น ทั้งในแง่ของรสนิยมการบริโภคและการใช้ชีวิต อีกทั้งยังทำให้บางสิ่งบางอย่างเลือนหายไปจากจิตสำนึกของบุคคล อาทิ ความรู้สึกสงบ ความต่อเนื่องมั่นคง ความผูกพันที่ลึกซึ้งกับผู้อื่น รวมถึงความผูกพันกับเวลาและสถานที่และผลของมันก็คือ การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการมองความจริง เปลี่ยนแบบแผนในการใช้ชีวิตประจำวันของปัจเจกบุคคล และเปลี่ยนแบบแผนประเพณีต่างๆที่เคยปฏิบัติสืบทอดกันมา

                 อาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่เพลงลูกทุ่งจะถูกนำเสนอในรูปแบบที่แปลกแตกต่างไปจากที่เคยเป็นมา ตามพัฒนาการของสังคม และวิวัฒนาการของโลกที่หมุนไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะวัตถุดิบสำคัญในการเลือกสรรมาเรียงร้อยเป็นเรื่องราวเรื่องหนึ่งนั้น หาได้จากการมีอยู่และเป็นไปในสังคม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าทุกคนมีใจรักษาและพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ ย่อมต้องไม่ลืมว่าแท้จริงแล้ว เสน่ห์ของเพลงลูกทุ่งคืออะไร และหวงแหนเอกลักษณ์นั้นไว้ให้คงอยู่สืบต่อไป
                ก่อนหน้าที่ประเทศไทยจะเกิดเคป๊อปฟีเวอร์ ก็มีเจป๊อปเป็นฐานหลักอยู่แล้ว เด็กวัยรุ่นชื่นชอบดารานักร้องญี่ปุ่น เรียนภาษาญี่ปุ่น คลั่งไคล้วัฒนธรรมญี่ปุ่น และไม่ใช่แค่ที่ประเทศไทยเท่านั้น ทั่วทั้งโลกเองก็เช่นเดียวกัน ทำให้ประเทศญี่ปุ่นสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้จำนวนมหาศาล เหล่านี้คือการขายวัฒนธรรม
แต่ทำไมถึงไม่มีกระแสรุนแรงเท่าเคป๊อป?
                หากมองในเชิงวัฒนธรรม แต่แรกเริ่มเคป๊อปเองก็ได้รับเอาอิทธิพลมาจากเจป๊อป การก่อตั้งบริษัทเพลง แนวดนตรี การรับเด็กมาฝึกตั้งแต่อายุยังน้อย ตั้งวงบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปที่ในวงมีสมาชิกหลายๆคน ทำหน้าที่ทั้งร้องและเต้นไปพร้อมๆกัน และเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า ไอดอล
   
สถานการณ์ทางสังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่เป็นบริบทอันนำมาพิจารณาในการพัฒนางานให้สอดคล้องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2560) ที่กล่าวถึง นโยบายการเปิดเขตเศรษฐกิจเสรีในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ที่เน้นการส่งเสริมสินค้าและบริการใหม่ๆ เพื่อลดการแข่งขันในด้านราคา ทั้งนี้ ตามหลักของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็คือแนวคิดแนวปฏิบัติที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าบริการโดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรมากนักแต่ใช้ความคิด สติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์เป็นสำคัญ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ใช้ความคิดสร้างสรรค์รวมกับการจัดการเพื่อทำให้สินค้าและบริการเป็นที่ยอมรับ ประเทศเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากความสำเร็จในการสร้างกระแสนิยมเกาหลี (K– POP) โดยเริ่มจากการสร้างกระแสความนิยมในธุรกิจบันเทิงต่างๆ อาทิ ละครเกาหลี จนนำไปสู่ความสนใจในอาหาร เสื้อผ้า ทรงผม แฟชั่น การท่องเที่ยว เครื่องประดับ เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า บริการศัลยกรรม การแสดงคอนเสิร์ต นักร้องนักแสดง ฯลฯ ทำให้มีเม็ดเงินมุ่งสู่ประเทศเกาหลีใต้อย่างมากมาย ในกรณีนี้จะเห็นชัดเจนว่ามีการใช้ธุรกิจบันเทิงเป็นตัวนำเป็นทัพหน้าที่นำทัพเศรษฐกิจเข้าสู่เวทีการแข่งขัน ซึ่งประเทศเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอย่างมาก เช่นนี้นับเป็นกลยุทธ์การต่อสู้ด้วยสงครามการสื่อสาร (Communication War) รัฐบาลไทยจึงจำเป็นต้องประกาศนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อรับมือกับกระแสการไหลบ่าของวัฒนธรรมต่างชาติที่กำลังส่งผลกับเยาวชนไทยอย่างน่าเป็นห่วง รวมถึงการนิยมใช้สินค้าต่างชาติจนทำให้ประเทศไทยเสียดุลย์การค้า และในที่สุดประเทศไทยก็จะอาจกลายเป็นเมืองขึ้นทางวัฒนธรรมของชาติอื่นไปโดยไม่รู้ตัว การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศรวมถึงเครื่องมือสื่อสารการตลาดอย่างครบวงจร จะเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถทำให้การสร้างอัตลักษณ์ของศิลปินไทยเกิดขึ้นและขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้เป็นรูปธรรม
อัตลักษณ์ ประกอบด้วยคำว่า อัต (อัด-ตะ) ซึ่งหมายถึง ตน หรือ ตัวเอง กับ ลักษณ์ ซึ่งหมายถึง สมบัติเฉพาะตัว.   คำว่า อัตลักษณ์ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า identity หมายถึง ผลรวมของลักษณะเฉพาะของสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้สิ่งนั้นเป็นที่รู้จักหรือจำได้ เช่น นักร้องกลุ่มนี้มีอัตลักษณ์ทางด้านเสียงที่เด่นมาก ใครได้ยินก็จำได้ทันที. สังคมแต่ละสังคมมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง  แต่โลกาภิวัตน์ทำให้อัตลักษณ์ของสังคมไทยเปลี่ยนไป
                สถานการณ์หรือการพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรม ที่พิจารณาในการสร้างอัตลักษณ์นั้นได้คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมยุคการสื่อสารไร้พรมแดน และการใช้คอมพิวเตอร์ทุกหนทุกแห่ง การใช้เครือข่ายความเร็วสูงและอินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นสิ่งปกติธรรมดาในหลาย ๆ ประเทศ ทำให้ในประเทศไทยก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การใช้งานอุปกรณ์คอมเพิวเตอร์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อตอบสนองรูปแบบการดำรงชีวิตที่มีความเกี่ยวพันกับโครงข่ายทางสังคมที่มีอัตราความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระแสการไหลบ่าทางวัฒนธรรมจากต่างชาติ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก ทั้งนี้จำเป็นจะต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในการต่อสู้ด้วยสงครามการสื่อสาร (Communication War) เป็นจำนวนมากที่มีความเป็นมืออาชีพ มีความเข้าใจในผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรม มีคุณธรรม จริยธรรม ที่จะช่วยชี้นำและขับเคลื่อนให้การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปในรูปแบบที่สอดคล้องและเหมาะสมกับวิถีชีวิตของสังคมไทย ที่จะสามารถต้านกระแสการไหลบ่าของวัฒนธรรมจากต่างชาติได้
                                จึงจำเป็นต้องพัฒนาการใช้เทคโนโลยีในเชิงรุกที่มีศักยภาพและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามบริบทแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม การแข่งขันทางเศรษฐกิจในกระแสโลกาภิวัฒน์ วิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ และรองรับการแข่งขันทางธุรกิจบันเทิงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยการผลิตบุคลากรที่มีความพร้อมที่จะปฏิบัติงานได้ทันที มีศักยภาพสูงในการพัฒนาตนเองให้เข้ากับลักษณะงานทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพ รวมถึงความเข้าใจในผลกระทบของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อสังคม ปฏิบัติตนอย่างมืออาชีพ มีคุณธรรม จริยธรรม  ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องพัฒนา เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆให้เหมาะสมกับบริบทและปัจจัยต่างๆที่จะพัฒนาศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ  กระแสโลกาภิวัตน์ กระแสการไหลบ่าของวัฒนธรรมต่างชาติ  จึงต้องทำให้อัตลักษณ์ของศิลปินไทยชัดเจนก็อาจสามารถส่งผลต่อการเป็นผู้นำ
ถึงแม้สื่อข้ามวัฒนธรรมจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงและเกิดการไหลบ่าทางวัฒนธรรม ก็อาจไม่สามารถทำให้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในแต่ละประเทศของอาเซียนรวมไปถึงอัตลักษณ์ในความเป็นศิลปินเปลี่ยนแปลงไปได้ ถ้ามีความแข็งแรงและมีความมั่นคงทางวัฒนธรรมรวมไปถึงการมีนโยบายของรัฐบาลสนับสนุนในแต่ละประเทศนั้นๆ เปรียบเสมือนเกาหลีที่กล่าวมาข้างต้น อีกนัยยะหนึ่งการถ่ายทอดวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ดีเพราะจะทำให้เกิด การผสมผสานทางวัฒนธรรม (Culture Contemporary)ซึ่งจะทำให้เกิดวัฒนธรรมแนวใหม่(Modern Culture)ที่ยังคงอัตลักษณ์ของความเป็นประเทศใน AEC ที่สำคัญที่สุด การถ่ายทอดวัฒนธรรมนั้นศิลปินจะต้องเป็นผู้ถ่ายทอด ถ้าศิลปินมีอัตลักษณ์ที่มั่นคงก็จะถ่ายทอดวัฒนธรรมที่เกิดจากการไหลบ่ารวมถึงถ่ายทอดสื่อข้ามวัฒนธรรมได้อย่างลงตัวที่มีทั้งเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกต่อไป ในนามของผู้เขียนบทความจะขอนำเสนอแนวคิดของอัตลักษณ์ Identity ที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านที่กำลังมองถึงการถ่ายข้ามสื่อทางวัฒนธรรมในการรวมตัวกันเป็น AEC ที่จะเกิดขึ้นในปี 2559 ดังแนวคิดที่จะนำเสนอคือ
I = Information หมายถึง การมีข้อมูลทางวัฒนธรรมของกลุ่มระเทศใน AEC
D = Do / Doing หมายถึง การจัดทำ หรือการจัดแสดงการสื่อสารทางวัฒนธรรม
E = Edutainment หมายถึง การสร้างอัตลักษณ์ที่เกิดจากการนำความรู้ทางวัฒนธรรมสู่ความบันเทิง
N = Normative มีนัยยะที่ว่า  ปทัสถานการนำเสนอที่มั่นคงของวัฒนธรรม
T = Talent มีนัยยที่ว่า การใช้ความสามารถพิเศษ การนำเสนอวัฒนธรรมของศิลปินที่มีเอกลักษณ์
I = Interection มีนัยยะที่ว่า  ความมีปฏิสัมพันธ์ที่ลงตัวของวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เป็นที่ยอมรับ
T = Technology มีนัยยะที่ว่า  สื่อวัฒนธรรมที่เกิดการไหลบ่าจะเกิดกระแสอย่างรวดเร็วด้วยโลกยุค โลกาภิวัฒน์
Y = Yes มีนัยยะที่ว่า  อัตลักษณ์ของศิลปินไทยกับการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม จะมีผลดีถ้ามีความมั่นคงในการถ่ายทอดทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรมนั่นเอง……
___________________________________________________________________________________
ณัฏฐ์ เดชะปัญญา
บรรณานุกรม
เว็บไซต์
พิชัย สดภิบาล(2553) การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม : ปัจจัยเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://www.thaiblogonline.com/sodpichai.blog?PostID=14087
ปริณดา เริงศักดิ์ (2555) การถ่ายทอดวัฒนธรรมผ่านละครเกาหลีอิงประวัติศาสตร์แดจังกึม [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://www.bu.ac.th/knowledgecenter/executive_journal/jan_mar_12/pdf/aw010.pdf
ปรีดี  สุวรรณบูรณ์ (2556) ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://www.ipesp.ac.th/learning/thai/chapter1-1.html
อภินันท์ มุสิกะพงษ์ (2554) บทบาทของสื่อในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://www.gotoknow.org/posts/360354
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2556) ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน? [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://www.thai-aec.com/752
ชุติมา สุขวาสนะ(2556) บทบาทสื่อมวลชนกับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

1 comment: