Thursday, October 10, 2013

โอกาสและปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโทรทัศน์ดิจิตอลของไทย



โอกาสและปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโทรทัศน์ดิจิตอลของไทย

ผู้เขียน : นายพรณรงค์  พงษ์กลาง  รหัส 4561500168
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต รุ่นที่ 5
สาขาวิชานิเทศศาสตร์  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
10 ตุลาคม 2556

บทคัดย่อ
ในปัจจุบันโทรทัศน์ระบบดิจิตอลกำลังจะเข้ามาแทนที่โทรทัศน์ระบบอนาล็อก ซึ่งประชาชนสามารถรับชมโดยการดึงสัญญาณภาพและเสียงแบบไม่มีปิดกั้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าสมาชิกแรกเข้าหรือรายเดือนดังเช่นโทรทัศน์แบบเคเบิล (Cable TV) หรือดาวเทียม ซึ่งสถานีโทรทัศน์มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการโฆษณาตามปกติ ส่วนช่องรายการพิเศษของสถานีโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิก(Pay TV)โดยเก็บเงินจากประชาชนจะสามารถรับชมรายการผ่านระบบเคเบิลทีวีหรือดาวเทียม สำหรับประชาชนที่สนใจรับชมจะสามารถเลือกซื้อหรือจ่ายเงินตามความสมัครใจโดยที่รัฐไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ดังนั้นการที่ระบบโทรทัศน์ดิจิตอลถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้แทนโทรทัศน์ระบบอนาล็อก ถือเป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญในวงการโทรทัศน์ไทย ซึ่งถึงแม้ว่ารูปแบบการทำงานของระบบโทรทัศน์จะเหมือนกันทุกประการ แต่คุณภาพของโทรทัศน์ระบบดิจิตอลนั้นดีกว่าและมีจำนวนช่องให้เลือกรับชมที่มากกว่า ส่งผลกระทบให้หลายประเทศที่ใช้โทรทัศน์ระบบอนาล็อกต้องมีการเปลี่ยนระบบการแพร่สัญญาณมาเป็นระบบดิจิตอล เพื่อรองรับในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีอย่างมากมายมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมของประชาชนเพื่อเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงของการแพร่ภาพระบบดิจิตอลในประเทศไทยต่อไป

Abstract
Digital television will replace analog television. Which can be viewed by the public video and audio signals without blocking without charge . Whether the first or monthly membership fees as cable television (Cable TV) or satellite television revenue mainly from advertising, as usual. The special television channels and subscription (Pay. TV) by collecting money from the public to be able to watch television through cable or satellite . For people who are interested to watch or you can choose to pay on a voluntary basis by the state is not involved . Thus, the digital television system was created to replace analog television . Constitutes a major revolution in the television industry, Thailand . Although the format of the television system is the same in all respects. However, the quality of digital television is better and there are a number of channels to watch more . Affect many countries, the need to replace analog television broadcasting system to digital. To support the presentation with massive amounts of information efficiently . The preparation of the public for access to the changing needs of the digital broadcasting in Thailand.


บทนำ
ระบบโทรทัศน์ในปัจจุบันที่เราใช้กันอยู่ เรียกว่าโทรทัศน์ระบบอนาล็อก (Analog) ซึ่งใช้ช่องความถี่ตามมาตรฐานในย่าน VHF ขนาด 7 เมกะเฮิรตซ์ และ UHF ขนาด 8 เมกะเฮิรตซ์ สาเหตุที่ต้องใช้ช่องความถี่กว้างขนาดนี้ เนื่องจากข้อมูลภาพแบบระบบอนาล็อกเป็นข้อมูลที่มีขนาดใหญ่มาก ใช้สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินเป็นตัวส่งสัญญาณ ซึ่งตามบ้านเรือนส่วนใหญ่ใช้เสาอากาศรับสัญญาณโทรทัศน์ ที่เรียกกันว่า "เสาก้างปลา" หรือ "เสาหนวดกุ้ง" นั่นเอง ข้อเสียของสัญญาณอนาล๊อก คือ สัญญาณถูกรบกวนได้ง่าย คุณภาพของภาพและเสียงไม่ชัดเจนเท่าที่ควร ซึ่งตรงกันข้ามกับโทรทัศน์ดิจิตอล (Digital TV) ที่รองรับการออกอากาศในรูปแบบดิจิตอล ที่การให้สัญญาณภาพและเสียงมีคุณภาพมากกว่าโทรทัศน์แบบอนาล็อก และใช้คลื่นความถี่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยระบบโทรทัศน์ดิจิตอลจะใช้สัญญาณดิจิตอลที่ถูกบีบอัดและเข้ารหัสที่มีค่าเป็น "0" กับ "1" เท่านั้น กระบวนการต่าง ๆ ที่จะทำการแปลงสัญญาณภาพและเสียงให้เป็นดิจิตอลนั้น มีการบีบอัดข้อมูลและทำการเข้ารหัสข้อมูลก่อนที่จะทำการการมอดูเลชั่น (Modulation) ซึ่งข้อมูลดิจิตอลเหล่านี้ถูกส่งผ่านตัวกลางไปสู่ผู้รับปลายทาง ด้วยวิธีที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับโทรทัศน์ระบบอะนาล็อก ทำให้ในหนึ่งช่วงคลื่นความถี่สามารถส่งสัญญาณภาพโทรทัศน์ได้หลายรายการ ประกอบกับสัญญาณภาพและเสียงมีความละเอียดคมชัดมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันในต่างประเทศทั้งในยุโรป แอฟริกา และเอเชีย รวมแล้วมากกว่า 38 ประเทศทั่วโลก ได้เริ่มเปลี่ยนระบบโทรทัศน์มาใช้สัญญาณแบบดิจิตอลแล้ว
ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังจะพัฒนาระบบการออกอากาศโทรทัศน์จากเดิมที่เป็นระบบอนาล็อกไปสู่การออกอากาศในระบบดิจิตอล หรือที่เรียกกันว่า "โทรทัศน์ดิจิตอล" ซึ่งหลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เริ่มวางโครงการประมูลคลื่นโทรทัศน์ระบบดิจิตอล จะส่งผลให้ประชาชนชาวไทยมีฟรีทีวีดูมากกว่า 24 ช่อง และคาดว่าภายในระยะเวลา 8 ปีต่อจากนี้ หรือ ภายในปี พ.ศ. 2563 จะมีการยกเลิกระบบอนาล็อกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง จึงทำให้เจ้าของสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ เริ่มปรับตัวเพื่อเตรียมรองรับกับระบบใหม่ที่กำลังจะมาถึง โดยที่โทรทัศน์ดิจิตอลคืออะไร มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร และมีอะไรเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงระบบโทรทัศน์ของไทยในครั้งนี้ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านระบบการรับ ส่งสัญญาณโทรทัศน์จากระบบ อนาล็อกเป็นระบบ ดิจิตอล” (Digital Television) ตามประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นั้น มีกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจน ซึ่ง กสทช. อนุญาตให้สถานีโทรทัศน์ปัจจุบัน ได้ทำการทดลองออกอากาศด้วยระบบดิจิตอล และหากย้อนหลังกลับไปเมื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้ประกาศแผนการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ทีวีดิจิตอล (Thailand digital Roadmap) เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2555 นั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการนำประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอล เช่นเดียวกับหลายประเทศในโลกปัจจุบัน

ความหมายของโทรทัศน์ดิจิตอล
                โทรทัศน์ดิจิตอล (Digital television) หรือทีวีดิจิตอล เป็นการส่งผ่านของเสียงและวิดีโอด้วยระบบสัญญาณดิจิตอลที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งความคมชัดของภาพและเสียง โดยการส่งข้อมูลแบบดิจิตอลในหนึ่งช่องสัญญาณสามารถส่งข้อมูลได้ในปริมาณที่มากกว่าระบบอนาล็อก (Analog) ซึ่งการส่งข้อมูลดังกล่าวเรียกว่า Multicasting ที่มีผลให้การส่งสัญญาณด้วยระบบดิจิตอลมีคุณภาพของภาพและเสียงดีกว่าระบบอนาล็อก โดยแต่เดิมนั้นระบบอนาล็อก หรือระบบเชิงเส้นในการส่งและรับสัญญาณมีประสิทธิภาพไม่ดีพอ จึงมีการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาเพื่อพัฒนาการถ่ายทอดระบบโทรทัศน์ ซึ่งการนำเทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์มาผสมผสาน (Convergence)นั้น ถือว่าเป็นการเบนหรือการผสานเข้าหากันกับเทคโนโลยีของโทรทัศน์ ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาล โดยคอมพิวเตอร์นั้นใช้ส่งและรับสัญญาณในระบบดิจิตอล ส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนระบบการส่งสัญญาณโทรทัศน์ให้เป็นระบบดิจิตอลด้วย
เนื่องจากโทรทัศน์มีใช้กันอย่างแพร่หลาย จัดเป็นสื่อที่มีผู้รับสารมากที่สุดในโลก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสัญญาณระบบอนาล็อกไปเป็นระบบดิจิตอลนั้น จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงให้อยู่ในระบบเดียวกันทั่วโลก ซึ่งคณะกรรมการสหภาพโทรคมนาคมสากล (ITU) กำลังประชุมหารือเพื่อกำหนดมาตรฐานของเทคโนโลยีในการแพร่สัญญาณภาพเกี่ยวกับ
1.ระบบแพร่ภาพดิจิตอลผ่านดาวเทียม (DVB-S The Digital Video Broadcasting Satellite System)
2.ระบบแพร่ภาพดิจิตอลผ่านสายเคเบิล (DVB-C the digital cable eleliverly system)
3. ระบบแพร่ภาพดิจิตอลภาคพื้นดิน (DVB-T the Digital Terrestrial Television System)
ในประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์จากอนาล็อกสู่ระบบดิจิตอล คือ การเลือกใช้มาตรฐานเทคโนโลยีการแพร่สัญญาณภาพ ซึ่งมาตรฐานเทคโนโลยีโทรทัศน์แต่ละมาตรฐานดังกล่าวข้างต้นต่างมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป ดังนั้นในการพิจารณาเลือกมาตรฐานเทคโนโลยีโทรทัศน์ระบบดิจิตอลของไทยในครั้งนี้ถือเป็นประเด็นที่ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน ทั้งในประเด็นเชิงประสิทธิภาพทางเทคโนโลยี และเชิงประสิทธิภาพทางเศรษฐศาสตร์ ที่สำคัญที่สุดคือความสอดคล้องกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ผลการพิจารณาและคัดเลือกโดย กสทช. มาตรฐานกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลของประเทศไทยได้เลือกใช้มาตรฐาน DVB-T2 (Second Generation Digital Terrestrial Television Broadcasting System) เป็นมาตรฐานในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอลที่ก้าวหน้า ทันสมัย และมีประสิทธิภาพการใช้งานสูงสุดในขณะนี้ สัญญาณมีความคงทนและมีความยืดหยุ่นในการใช้งาน เพื่อนำเสนอการผสมสัญญาณ (Modulation) ระบบใหม่ล่าสุดที่รวมทั้งเทคนิคการเข้ารหัสสัญญาณมีประสิทธิภาพสูงเพื่อส่งคลื่นความถี่ที่ส่งสัญญาณภาพและเสียง ซึ่งการบริการส่งข้อมูลที่ใช้สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์แบบเคลื่อนที่ (Portable) และเครื่องรับโทรทัศน์แบบมือถือ (Mobile) นั้น คุณสมบัติทางเทคนิคของ DVB-T2 ได้ใช้หลักการผสมสัญญาณ OFDM (Orthogonal Frequency Division Multiplex) โดยการแบ่งคลื่นความถี่วิทยุเป็นความถี่ย่อยจำนวนมาก เพื่อให้ส่งสัญญาณที่มีความคงทนในหลายทางเลือก กำหนดจำนวนคลื่นความถี่ที่ใช้ออกอากาศ และกำหนดขนาดของช่วงคาบเวลา (Guard Interval Size) ในการกำหนดสัญญาณนำร่อง (Pilot Signal) ดังนั้นสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพเป้าหมายของระบบส่งสัญญาณโทรทัศน์ในช่องคลื่นความถี่ที่กำหนด ซึ่งการใช้เทคนิคใหม่นี้ทำให้ DVB-T2 มีประสิทธิภาพสูงกว่า 50% ของประสิทธิภาพการส่งโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอลอื่น ๆ ที่ใช้งานบนพื้นโลก

โอกาสในการเข้าถึงโทรทัศน์ดิจิตอลของไทย
ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ระบบอนาล็อก ที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน ให้เข้าสู่ระบบโทรทัศน์ที่ทันสมัย ที่เรียกกันว่า โทรทัศน์ดิจิตอลนั้น หากย้อนกลับไปในอดีตการเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งจากระบบโทรทัศน์ขาวดำหรือทีวีจอตู้ในอดีต มาสู่การเป็นโทรทัศน์สี สำหรับการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ถือเป็นอีกขั้นของการปฏิวัติวงการโทรทัศน์ไทยซึ่งการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในรอบ 20 ปี ซึ่งถือเป็นความจำเป็นของประเทศในการสร้างโอกาสของการเรียนรู้ให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยดำเนินการเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ระบบดิจิตอลในครั้งนี้ได้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติซึ่งพิจารณาว่าทรัพยากรสื่อสารของชาติควรจะได้รับการจัดสรรอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังคำนึงถึงการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม เพื่อให้มีการกระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึง สำหรับกิจการด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ  อันก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งผู้ประกอบการ ประชาชน และในแต่ละภาคส่วน ดังนั้นการวางแผนนโยบายและกรอบระยะเวลาการดำเนินงานควรดำเนินไปด้วยความรอบคอบ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในช่วงของการเปลี่ยนผ่านให้น้อยที่สุด เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในกิจการโทรทัศน์ไทยในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสำเร็จลุล่วงตามแผนการดำเนินการที่ได้วางเอาไว้ อันอาจนำไปสู่การพัฒนาในกิจการโทรทัศน์ของประเทศ ในการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย มีคุณภาพ อย่างเท่าเทียม และรู้เท่าทันมากยิ่งขึ้นต่อไป

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในการเข้าถึงโทรทัศน์ดิจิตอลของประชาชน
ความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอล (Digital Divide) เป็นลักษณะการแบ่งแยกกลุ่มของประชากรที่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มของประชากรซึ่งไม่สามารถเข้าถึงและไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสารสนเทศ (Information) และความรู้ (Knowledge) ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology : ICT) โดยพิจารณาจากการเข้าถึงโทรทัศน์ดิจิตอลเป็นสำคัญ ซึ่งหากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพที่ชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายนั้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอลจะเปรียบเสมือนปัญหาความยากจนในทางเศรษฐกิจ หากแต่เป็นความยากจนทางสารสนเทศและความรู้ในสังคม ข้อมูลข่าวสาร (Information Society) ซึ่งการที่คนในประเทศ เข้าถึงและ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร และสารสนเทศสมัยใหม่ อย่างไม่เท่าเทียมกัน  ทำให้เกิดการแบ่งแยก (Divide) บุคคลออกเป็นกลุ่มที่มีโอกาสสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้เต็มที่ และกลุ่มบุคคลที่ขาดโอกาสไม่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่นี้ได้ ดังนั้นความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมกันนี้อาจมีสาเหตุอันเนื่องมาจากปัจจัยมากมายหลายประการไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การศึกษา อายุ เพศ ชาติพันธุ์ รวมถึงนโยบายของประเทศที่ก่อให้เกิดการขาดแคลนเทคโนโลยีและการให้บริการเทคโนโลยีที่ไม่ทั่วถึง ซึ่งหากความเหลื่อมล้ำนี้ดำรงอยู่ในสังคมจะมีผลกระทบต่อความได้เปรียบและเสียเปรียบในทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาของคนในประเทศต่อไป
จากปัญหาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการรับชมโทรทัศน์ถือเป็นการสื่อสารที่ให้ทั้งความบันเทิงและข้อมูลข่าวสาร เป็นสื่อที่เข้าถึงง่ายที่สุดในขณะนี้ ซึ่งคนที่พอมีรายได้บ้างจะมีโอกาสเลือกชมโทรทัศน์ผ่านระบบดาวเทียม หรือเคเบิลทีวี ที่เป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาในการรับชมช่องรายการฟรีทีวีที่เป็นบริการของรัฐได้ชัดเจนกว่าการรับชมโทรทัศน์แบบภาคพื้นธรรมดา อีกทั้งยังมีช่องรายการอื่นให้บริการหลากหลายและมากกว่า ซึ่งคนไทยจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีได้  จึงต้องรับชมทีวีภาคพื้นดิน โดยรับสัญญาณผ่านเสาก้างปลาบนหลังคาบ้าน หรือเสาหนวดกุ้งบนหลังทีวี ที่ชัดบ้างไม่ชัดบ้างไปตามสภาพ ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอล” (Digital divide)  ที่จะเกิดขึ้นนั้นรัฐบาลควรมีการกำหนดกรอบนโยบายและกระบวนการแบบมีส่วนร่วมเพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยทุกภาคส่วนมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างค่อยเป็นค่อยไป  ซึ่งถือเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยขจัดความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอลให้น้อยลง และทำให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน  

แนวคิด และทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับโอกาสและปัญหาความเลื่อมล้ำในการเข้าถึงโทรทัศน์ดิจิตอลของไทย
ทฤษฎีการสื่อสารเพื่อการพัฒนา (Development Communication)
ปัจจุบันการสื่อสารมวลชนเป็นที่ยอมรับในฐานะปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาประเทศด้วยศักยภาพของ สื่อซึ่งนักคิดในสายพัฒนาส่วนใหญ่ เห็นพ้องกันว่าเมื่อสื่อมวลชนสามารถส่งข่าวสารไปทุกแห่งหนแล้ว สื่อยังสามารถทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นในจิตใจของผู้รับสารด้วยเช่นกัน ดังนั้นการสื่อสารจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกระบวนการสังคมในการส่งเสริมและขยายการพัฒนา ตลอดจนทำให้งานพัฒนาสังคมดำเนินไปได้โดยสะดวก ซึ่งการสื่อสารจะทำหน้าที่เป็นกลไกที่ผลักดันให้การพัฒนาประเทศเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีบทบาทหน้าที่ในการให้คำแนะนำข่าวสารทุกประเภทในประเด็นที่ยุ่งยากซับซ้อนหรือในกรณีที่ผู้รับสารเข้าใจยาก โดยเป็นสื่อในการถ่ายทอดข่าวสารเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงไปยังผู้รับสาร เพื่อให้เกิดการประเมินเนื้อหาและสนองตอบต่อข่าวสารนั้น(Feedback)อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังมีบทบาทในการโน้มน้าวใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความรู้ (Knowledge) ทัศนคติ (Attitude) และการนำไปปฏิบัติ (Practice) ซึ่งแนวคิดการสื่อสารการพัฒนาในปัจจุบันเน้นไปที่แนวการสื่อสารที่กระตุ้นนโยบายสาธารณะ และมีเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายผ่านการใช้ทรัพยากรและกลุ่มที่เหมาะสม การสื่อสารทุกรูปแบบมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ความสำคัญกับมนุษย์มากกว่าเครื่องมือ จึงมักใช้สื่อหลากหลายรูปแบบ มีเป้าหมายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เน้นในเรื่องพฤติกรรมอย่างเดียวไม่ได้ ตัวอย่างเช่น การสื่อเรื่องราวชุมชนต่อนโยบาย ต้องไปเชื่อมกับนโยบาย หรือผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ แดเนียล เลอร์เนอร์ (Daniel Lerner) ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างการสื่อสารกับการพัฒนาไว้อย่างชัดเจนและรัดกุมว่า การพัฒนาประเทศ  หมายถึง  การมีกิริยาสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างมีระบบ การรวบรวมมวลชน และการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในกระบวนการตัดสินปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของส่วนรวม ในประเทศที่ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทั้งสามประการดังกล่าวข้างต้น จะเกิดขึ้นได้โดยผ่านการสื่อสารเท่านั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอจากเครือข่ายการสื่อสาร ด้วยเหตุนี้ถ้าหากมีการนำการสื่อสารมาใช้ให้ถูกต้องอย่างเพียงพอแล้ว ก็จะสามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาประเทศได้อย่างมาก อาจกล่าวได้ว่า การสื่อสารเป็นทั้งดัชนีของการพัฒนา และเครื่องมือ หรือวิธีการของการพัฒนาสังคม
ทฤษฏีภาวะทันสมัย ( Modernization Theory)

ลักษณะที่สำคัญของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยประกอบด้วย
1. การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตและเทคโนโลยีในการดำรงชีวิตจากแบบเรียบง่ายในสังคมจารีต ไปสู่การดำรงชีวิตที่อาศัยความรู้และเทคโนโลยีระดับสูง และมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น

2. การเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตจากเกษตรกรรมแบบยังชีพ หรือการทำการเกษตรในที่ดินแปลงเล็กเพื่อบริโภคในครัวเรือน เป็นการผลิตขนาดใหญ่เพื่อขาย และมีการจ้างแรงงานภายนอกครอบครัวหรือชุมชนแทนการใช้แรงงานในครอบครัว

3. มีระบบอุตสาหกรรมในโรงงานและการใช้เครื่องจักรกลเพิ่มมากขึ้น

4. วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนแปลงจากความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการเป็นแบบเป็นทางการ

5. เกิดเมืองเพิ่มขึ้นและมีการขยายตัวของสังคมเมือง

6. มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สาธารณูปโภค โรงเรียน โรงพยาบาล

7. เกิดชนชั้นกลางและผู้ประกอบการ (Entrepreneur) เพิ่มขึ้น

8. มีการเปลี่ยนแปลงระบบความเชื่อของคนจากอำนาจเหนือธรรมชาติ ครอบครัว และชุมชนนิยม เป็นความคิดเชิงเหตุผล ปัจเจกชนนิยมและวัตถุนิยม

9. โครงสร้างของครอบครัวเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเดี่ยว

10. สถาบันทางสังคมต่าง ๆ มีความสลับซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น

11. ในการจัดระเบียบทางสังคมใช้กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เป็นลายลักษณ์อักษรมากขึ้นแทนที่บรรทัดฐานและวิถีประชาที่ใช้กันในสังคมจารีต

แนวคิดทฤษฎีภาวะทันสมัยแบ่งสังคมออกเป็นสองรูปแบบ คือ สังคมประเพณีที่ด้อยพัฒนากับสังคมทันสมัยที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นการพัฒนาจึงเป็นกระบวนการสร้างความทันสมัย (Modernization)เป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะทางเดียว และเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ระบบต่างๆในสังคมมีโอกาสได้ปรับตัวไปพร้อมกับการรักษาสมดุลยภาพ (Equilibrium ) และความมั่นคง (Sability)ของสังคม ซึ่งรูปจำลองของการพัฒนา (Development Models) ก็คือรูปแบบของสังคมเมืองที่ทันสมัย และพุ่งประเด็นไปที่เป้าหมายแรกของการพัฒนานั่นคือ ความเจริญทางเศรษฐกิจ ( Development equates economic growth) โดยใช้ดัชนีชี้วัดที่สำคัญของการพัฒนา (Development Indicators ) คือ รายได้ประชาชาติ ในการวิเคราะห์ความเจริญทางเศรษฐกิจ สรุปได้ว่าสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น(Change for the better )เท่านั้น จึงจะเรียกว่า การพัฒนา ซึ่งเกิดจากการวางแผน และการกำหนดทิศทางการเปลี่ยนที่พึงประสงค์ ที่สำคัญต้องสอดคล้องกับค่านิยมของสังคมด้วย โดยการพัฒนาเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยกระบวนการสร้างความทันสมัย (Modernization Process) โดยมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นสองระดับ คือ ระดับสังคมและระดับบุคคล

ในภาพรวมของการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยนั้น อาจกล่าวได้ว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายที่ได้รับอิทธิพลจากการแผ่ขยายอำนาจของประเทศตะวันตกได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรม มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างรวดเร็ว เช่น ถนน สาธารณูปโภคต่างๆ โรงพยาบาล และโรงเรียน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ไม่สอดคล้องกับขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม และลักษณะทางกายภาพของท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา คือ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือยและไม่เห็นคุณค่า การเกิดมลภาวะ ปัญหาทางเศรษฐกิจ และปัญหาสังคมต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งสามารถสรุปกระบวนการสร้างความทันสมัย (Modernization Process) ได้ดังนี้

1. Modernization เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูป (Revolutionary Process) ของวิวัฒนาการทางสังคม

2. Modernization เป็นกระบวนการที่สลับซับซ้อน (Complex Process)

3. Modernization เป็นกระบวนการที่เป็นระบบ (Systemic Process)

4. Modernization เป็นกระบวนการในระดับโลก (Global Process)

5. Modernization เป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน (Lengthy Process)

6. Modernization เป็นกระบวนการที่มีขั้นตอน (Phased Process)

7. Modernization เป็นกระบวนการสร้างความเป็นเอกพันธ์ (Homogenizing Process)

8. Modernization เป็นกระบวนการที่ไม่ย้อนกลับ (Irreversible Process)

9. Modernization เป็นกระบวนการก้าวหน้า (Progressive Process)



ทฤษฎีการแพร่กระจายนวัตกรรม

ทฤษฎีการแพร่กระจายนวัตกรรม (Diffusion of Innovations Theory : DOI) ของ Everett Rogerโดยแนวความคิดทฤษฏีของ Roger  การยอมรับ (Adoption) สิ่งใดของสังคม จะมีกระบวนการ (Process) คล้ายกัน โดยเริ่มต้นจากมีสิ่งใหม่เกิดขึ้น โดยมีคนกลุ่มหนึ่งยอมรับและคิดว่าดีแล้ว ก่อให้เกิดการแพร่กระจาย (Diffusion) ไปตามช่องทางของการสื่อสาร (Channels) ต่าง ๆ ของคนกลุ่มหนึ่งไปสู่กลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคม ซึ่งถ้าสิ่งใหม่มีความดึงดูดใจสูงก็จะก่อให้เกิดการยอมรับสิ่งนั้นในสังคมและใช้ระยะเวลาในการยอมรับสั้นขึ้น โดยการแพร่กระจายความนิยมเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือ Promotion ใดให้เกิดความนิยม ล้วนเกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปตามช่องทางสื่อสารต่าง ๆ ในสังคมโดยธรรมชาติ ซึ่งธรรมชาติของโทรคมนาคมมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเช่นเดียวกับธุรกิจสมัยใหม่ที่มีส่วนประกอบของการแพร่กระจายนวัตกรรม(Diffusion of Innovation) ดังนี้

              1. นวัตกรรม (Innovation)

              2. ช่องทางการสื่อสาร  (Communication Channels)

              3. ช่วงระยะเวลาหนึ่ง (Time)

              4. ระบบสังคม(Social System)
 

กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่นวัตกรรมถูกสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ของระบบสังคม โดยใช้เวลาในการเข้าสู่สมาชิกในสังคมทั้งสี่ส่วนประกอบหลักในสังคม คือ นวัตกรรม ช่องทางในการสื่อสาร เวลา และ ระบบสังคม

บทสรุป
จะเห็นได้ว่าจากภาพรวมของปรากฏการณ์เรื่องโทรทัศน์ดิจิตอลได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ยุคของโทรทัศน์ดิจิตอลในประเทศไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น ด้วยนโยบายการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาระบบรับส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอลนั้นจะมีการดำเนินการให้เกิดความเท่าเทียมและทั่วถึง ดังนั้นหากผู้ดำเนินนโยบายไม่ได้คำนึงถึงองค์ประกอบหลายด้านโดยเฉพาะในเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเทคโนโลยี อันเนื่องมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการศึกษาแล้ว อาจส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาระบบรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ให้เป็นระบบดิจิตอลไม่ประสบความสำเร็จตามระยะเวลาและเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ยังคงเป็นการดำเนินนโยบายที่ตอกย้ำที่แสดงให้เห็นถึงช่องว่างของความไม่เท่าเทียมในการรับชมโทรทัศน์ดิจิตอลอีกด้วย











เอกสารอ้างอิง

จับตาอนาคตทีวีไทย กับการเปลี่ยนแปลงจากระบบอนาล็อกสู่ดิจิตอล. 2556. เข้าถึงได้จาก http://hilight.kapook.com/view/81647. [ออนไลน์] ค้นคืนวันที่ 4 ตุลาคม 2556.
จาก "อนาล็อก" สู่...ดิจิตอล โฉมใหม่ทีวีไทย...ปชช.ได้อะไร. 2556. เข้าถึงได้จากhttp://www.khaosod.co.th/
                   view_news.php?newsid=TURObFkyOHlOVEE0TURrMU5nPT0= [ออนไลน์] ค้นคืนวันที่ 7 ตุลาคม 2556.
โทรทัศน์ระบบดิจิทัล. 2556. เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/wiki/โทรทัศน์ระบบดิจิทัล .[ออนไลน์] ค้นคืนวันที่ 4 ตุลาคม 2556.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2548. ปรัชญานิเทศศาสตร์และทฤษฎีการสื่อสาร. พิมพ์ครั้งที่ 1. นนทบุรี : สำนักพิมพ์สุโขทัยธรรมาธิราช.
อะไรคือทีวีดิจิตอล คำอธิบายเข้าใจง่าย. 2556. เข้าถึงได้จาก http://www.thairath.co.th/content/tech/336468/ [ออนไลน์] ค้นคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2556.

8 comments:

  1. เป็นบทความทีดี ให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการแพร่ภาพทางโทรทัศน์ของไทยในปัจจุบัน ความแตกต่างระหว่างระบบปัจจุบัน(อนาล็อก) กับระบบที่จะต้องใช้ในอนาคตอันใกล้ (ดิจิตอล.)

    ReplyDelete
  2. มีปัญหาว่าเราต้องเปลืองค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับระบบใหม่ใช่ไหมคะแต่ในอนาคตก็น่าจะคุ้มอยู่หรือปล่าว?

    ReplyDelete
  3. บทความดังกล่าวมีประโยชน์ทำให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการโทรทัศน์ไทยที่ำกำลังจะเกิดขึ้นค่ะ

    ReplyDelete
  4. พวกเราคนไทยก็หวังว่าประเทศเราจะสามารถทำระบบดิจิตอลสำเร็จ ซึ่งพวกเราก็คงจะได้ภาพสัญญาณโทรทัศน์ที่ชัดขึ้นและเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงถึงความเท่าเทียมกันของคนไทยเรื่องหนึ่ง อย่างน้อยก็เรื่องความเท่าเทียมกันทางเทคโนโลยี

    ReplyDelete
  5. ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ในประเทศไทยไปสู่ระบบดิจิทัลแล้ว จะทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการรับชมรายการได้มากขึ้น และจะทำให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างผู้ผลิตรายการ และออาจจะเป็นโอกาสสำหรับนักศึกษาที่เรียนในสายนิเทศศาสตร์ ได้มีโอกาสหางานได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ทางรัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประมูล และผู้ชม ว่าจะดำเนินการไปด้วยความโปร่งใส โดยคิดถึงการพัฒนาประเทศเป็นสำคัญ ไม่ใช่เอื้อประโยชน์ให้แก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

    ReplyDelete
  6. ถ้ามองในภาคประชาชนทั่วไป หากมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว การเข้าถึงหรือรับชมที่มีประสิทธิภาพของสัญญาณที่ดี และมีช่องรายการมากขึ้นย่อมเป็นประโยชน์อย่างมากอยู่แล้ว
    ถ้าการเข้าถึงหรือรับชมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นระบบดิจิตอล หมายรวมถึง สามารถแก้ปัญหาของระบบอนาล็อกปัจจุบัน เช่นพื้นที่ที่สามารถรับสัญญาณภาพและเสียงที่มีบริเวณกว้างมากขึ้นเพราะในหลายพื้นที่รับสัญญาณโทรทัศน์ไม่ได้ หรือปัญหาพื้นที่อับสัญญาณจากอาคารบ้านเรือนหรือตึกสูงบดบังสัญญาณ
    ส่วนระบบสัญญาณดาวเทียมปัญหาที่มักพบคือหากเจอฟ้าฝนไม่เป็นใจสัญญาณภาพก็จะไม่ชัดเพราะเม็ดฝน
    หากระบบสัญญาณแบบดิจิตอลจะช่วยให้แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ดีขึ้น คงทำให้ประชาชนยิ่งมองเห็นประสิทธิภาพที่ดีกว่าระบบเดิมๆ ได้ชัดเจนมากขึ้นไปอีก เพราะนี่ก็เป็นอีกมุมเล็กๆ ของโอกาสและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชนคนไทยเหมือนกัน

    ReplyDelete
  7. บทความนี้ดีมากค่ะ เป็นบทความที่มีประโยนช์มากซึ่งทำให้เราทุกคนได้เรียนรู้และทราบถึงการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงของระบบโทรศัพท์ และได้เรียนรู้การพัฒนาจากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล ซึ่งในอนาคตเราทุกคนจะได้ใช้ระบบนี้ต่อไปในเร็วๆนี้

    ReplyDelete
  8. ผู้เขียนได้นำสาระดีมีประโยชน์มาให้ผู้อ่านรับทราบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการโทรทัศน์ไทย และเตรียมพร้อมที่จะรับมือในการเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงของการแพร่ภาพในระบบดิจิตอล รวมทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโทรทัศน์ดิจิตอลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

    ReplyDelete